ฝ่ายบำบัดฟื้นฟูเด็กและครอบครัว มีภารกิจหลักในการบำบัดฟื้นฟูเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการทารุณกรรมเพื่อให้บรรลุผลดังนี้ คือ

  1. การป้องกันการถูกกระทำซ้ำ เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยทั้งในระยะวิกฤตและในระยะยาว
  2. การบำบัดฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดจากการถูกทำร้าย เพื่อการรักษาภาวะผลกระทบทางร่างกาย และเพื่อเยียวยาความขัดแย้งในใจของเด็ก และ
  3. การตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ สังคม และการเรียนรู้ของเด็กในระยะยาว เป็นการช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาได้อย่างเหมาะสมตามวัย

การทำงานกับเด็กและครอบครัวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น ต้องประกอบด้วยการทำงาน 2 ส่วนคู่ขนานไปด้วยกัน คือ กระบวนการคุ้มครองเด็ก ( Child Protection Process ) และการบำบัดเยียวยาทางจิตใจ ( Psychological Treatment )
ในปี 2559 ฝ่ายบำบัดฟื้นฟูเด็กและครอบครัวได้ให้บริการเด็กผู้เสียหาย จำนวน 40 คน ผู้เกี่ยวข้องกับเด็กจำนวน 25 คน ด้วยกระบวนการทำงานแบบทีมสหวิชาชีพ ตั้งแต่กระบวนการประเมินเด็กและครอบครัว การวางแผนการบำบัดฟื้นฟู การบำบัดฟื้นฟู และการประเมินผลหลังรับบริการ

ผลการดำเนินการพบว่า :

เด็กมีภาวะเจ็บปวดทุกข์ใจจากเหตุการณ์ทารุณกรรม ( PTSD ) จำนวน 11 คน มีภาวะซึมเศร้า ( Depress ) จำนวน 8 คน มีภาวะการปรับตัวผิดปกติ ( Adjustment Disorder ) 1 คน มีภาวะความผูกพันผิดปกติ ( Reactive Attachment Disorder ) จำนวน 13 คน มีภาวะอารมณ์แบบสองขั้ว( Bipolar ) จำนวน 2 คน เด็กมีปัญหาการสื่อสารและความเข้าใจภาษา  ( Language Disorder) 2 คน มีปัญหาสมาธิสั้น ( ADHD ) 6  คน มีภาวะความบกพร่องของการเรียนรู้ ( Learning Disabilities )จำนวน 3 คน  มีภาวะปัญญาอ่อน ( IQ ต่ำกว่า 69  )จำนวน 5 คน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก 20 คนมีความเครียดและวิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม่เด็กจำนวน 4 คน ย่าเด็ก 1 คน มีปัญหาสุขภาพจิตต้องได้รับการบำบัดรักษาต่อเนื่อง หลังการบำบัดฟื้นฟูพบว่า เด็กจำนวน 37 คนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ แต่ยังคงมีสภาวะจิตใจที่เปราะบางต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง  เด็กจำนวน  3   คนยังมีภาวะซึมเศร้ามีความเครียดวิตกกังวล ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตน มีพฤติกรรมต่อต้าน กิน นอนไม่เป็นเวลา ยังต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างเข้มข้น  ด้านสุขภาพกายเด็กได้รับการบำบัดรักษาตามอาการและหายเป็นปกติทุกราย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก( พ่อ แม่ ผู้ดูแล พี่ น้องของเด็ก ) จำนวน  20 คนมีความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถปรับใจและทำหน้าที่ของตนเองได้ตามปกติโดยมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง แม่เด็ก 5 คนมีอาการทรงตัวสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติแต่ยังคงมีสภาวะจิตใจที่เปราะบางต้องได้รับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง

6