ทุกวันนี้ เด็กๆยังถูกทารุณกรรม ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในทุกรูปแบบ เราจึงต้องการ “คุณ” มาร่วมเป็น “ผู้พิทักษ์เด็ก” เพื่อคุ้มครอง ปกป้องดูแลเด็กๆให้ปลอดภัยอยู่ในสังคม

ผู้พิทักษ์เด็ก คือ ใคร?

“ผู้พิทักษ์เด็ก”  หมายถึง ผู้ใหญ่ที่มีเด็กอยู่ในความดูแล  ผู้ใหญ่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กและครอบครัว  หรือ ประชาชนทั่วไป  ทุกคนในสังคมสามารถเป็น ผู้พิทักษ์เด็ก ได้  โดยร่วมกันดูแล คุ้มครองให้เด็กได้รับความปลอดภัย ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมตามวัย ตามพัฒนาการและสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กควรจะได้รับตามที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ

จะร่วมเป็นผู้พิทักษ์เด็ก ได้อย่างไร?

คุณสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งการพิทักษ์เด็กได้ ด้วยการ “สมัครเป็นสมาชิกโครงการ” และเลือกบทบาทการมีส่วนร่วมตามที่คุณสนใจและสามารถทำได้จริง  โดยเงื่อนไขการสมัครเป็นสมาชิกโครงการผู้พิทักษ์เด็ก  มีดังนี้

  1. เพศ :  ไม่จำกัดเพศ
  2. อายุ : ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
  3. ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา
  4. ไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ที่ติดต่อสู่ผู้อื่นได้
  5. ไม่มีอาการเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต
  6. ระยะเวลาการเป็นสมาชิก :  สมาชิกมีอายุ 1ปี แล้วปีต่อไปคุณตัดสินใจเลือกว่าจะต่ออายุหรือยกเลิกการเป็นสมาชิกได้

สิทธิพิเศษที่สมาชิกจะได้รับ

  1. คู่มือ สื่อ หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาเด็ก
  2. สิทธิเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของมูลนิธิ
  3. ข่าวสารของมูลนิธิ

รูปแบบของการเป็นสมาชิกผู้พิทักษ์เด็กแต่ละรูปแบบ

1.แจ้งเหตุ 

คุณสมบัติ :  ช่างสังเกต  จดจำรายละเอียด สนใจคนรอบข้าง มีความกระตือรือร้น ไม่นิ่งเฉยเมื่อพบเหตุสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับเด็กๆ   สื่อสาร(พูด เขียน) ให้คนอื่นเข้าใจได้
ต้องทำอะไร : เมื่อคุณพบเห็น หรือได้รับทราบเรื่องราวเด็กถูกกระทำด้วยความรุนแรง ถูกละเมิดสิทธิ ได้รับการเลี้ยงดูอย่างปล่อยปละละเลย ไม่ว่าจะพบเห็นในชุมชน ผ่านทางคลิปวีดีโอ หรือช่องทางอื่นๆ สิ่งที่คุณควรทำคือ

  1. ไม่นิ่งเฉย ให้รีบแจ้งเหตุ ส่งต่อข้อมูลหรือโทรศัพท์แจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300  สถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
  2. เวลาแจ้งเหตุบอกข้อมูลสำคัญ คือ ผู้ถูกกระทำเป็นใคร (ชื่อ อายุ (ถ้ารู้) ใครเป็นผู้กระทำเด็ก  กระทำอย่างไร (เล่าเหตุการณ์ที่เกิด)  อยู่ที่ไหน (สถานที่เกิดเหตุ เช่น บ้าน โรงเรียน ฯลฯ)   เมื่อไหร่  (วัน-เวลา) ผู้แจ้งต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไร   พร้อมทั้งแจ้งชื่อและเบอร์ติดต่อของผู้แจ้ง เพื่อเจ้าหน้าที่ขอรายละเอียดเพิ่มเติม (ข้อมูลของผู้แจ้งจะถูกปิดเป็นความลับเพื่อความปลอดภัย)

สิ่งที่คุณจะได้ :  1.ได้รับการอบรมเสริมความรู้และความเข้าใจต่อวิธีการแจ้งเหตุที่ถูกต้องและไม่ละเมิดต่อสิทธิเด็ก  สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรกระทำและไม่กระทำกับเด็ก  ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็ก   2.ความภาคภูมิใจและความสุขที่ได้เห็นเด็กคนหนึ่งรอดพ้นจากความทุกข์

2.กระจายข่าวสาร  

คุณสมบัติ:  ชอบติดตามข่าวสาร รักการสื่อสารเจรจาทั้งแบบพูดคุยตัวต่อตัว และสื่อสารผ่านทางสังคมออนไลน์   ให้คำแนะนำปรึกษาได้
ต้องทำอะไร : 

  1. ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของมูลนิธิฯ ผ่านสื่อต่างๆ เช่น เว็บไซต์  เฟสบุ๊ค
  2. ส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแล คุ้มครองเด็ก สู่ญาติสนิทมิตรสหายหรือคนรู้จัก ผ่านช่องทางการสื่อสารแบบต่างๆที่คุณถนัดหรือเชี่ยวชาญ เช่น  พบปะพูดคุย  Share Facebook    อัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ (ถ้ามี)  ขอสื่อนำไปแจกคนในชุมชนที่อาศัยอยู่/ที่รู้จัก
    สิ่งที่คุณจะได้ :   1.ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลและพัฒนาเด็ก   2.มีส่วนช่วยป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กในสังคม 3.ได้ความภาคภูมิใจและมีความสุขที่ได้ช่วยให้เด็ก ๆ ได้รับการดูแลที่ถูกต้องและเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ

3.อาสาส่งเสริมพัฒนาเด็ก 

คุณสมบัติ :  ชอบทำกิจกรรม มีความคิดสร้างสรรค์  รักและเข้าใจเด็ก ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบ  ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ (ผู้ใหญ่และเด็ก)  สื่อสารกับคนอื่นเข้าใจ   อดทน (ต่อสภาพอากาศและพฤติกรรมเด็ก)

ต้องทำอะไร :

  1. ช่วยคิดออกแบบกิจกรรมที่จะจัดให้กับเด็ก ในโจทย์ด้านการเสริมทักษะชีวิต ทักษะความปลอดภัยและทักษะสังคม
  2. จัดเตรียมอุปกรณ์กิจกรรม เช่น หาซื้อของ เตรียมสิ่งของตามรายการอุปกรณ์
  3. ประชุมร่วมกับทีมอาสาด้วยกัน เพื่อแบ่งบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน
  4. ลงพื้นที่จัดกิจกรรมให้กับเด็กครั้งละ 3 ชั่วโมง (เดือนละ1-2ครั้งในวันเสาร์/อาทิตย์)  จำนวนเด็กประมาณ 20-30 คน/ชุมชน  ทำหน้าที่ตามบทบาทที่ได้รับมอบหมาย  ต้องคอยสังเกตเด็กแต่ละคน
  5. ถอดบทเรียนสรุปกิจกรรมร่วมกัน หลังทำกิจกรรมเสร็จอาสาต้องสรุปพูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งที่ทำในแต่ละครั้งเพื่อนำไปปรับปรุงในครั้งถัดไป

สิ่งที่คุณจะได้ :

  1. การอบรมเสริมความรู้และความเข้าใจในข้อควรปฏิบัติที่ผู้ใหญ่ควรกระทำและไม่กระทำกับเด็ก  ความรู้และทักษะสำคัญในการทำงานเพื่อพัฒนาเด็ก
  2. การทำงานเป็นทีม  มีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนสิ้นสุดกิจกรรม
  3. ความภาคภูมิใจและความสุขที่ได้เห็นเด็กคนหนึ่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้น  และคุณได้เป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องเด็กให้รอดพ้นจากภัยอันตรายต่าง ๆ ในสังคม

4. ระดมทุน /บริจาค 

คุณสมบัติ :  มีมนุษยสัมพันธ์ดี  รู้จักคนเยอะ สื่อสารดี  ชอบพบปะผู้คน ช่างเจรจา มีเครือข่ายชีวิตมากมาย   ชอบการทำบุญและแบ่งปัน

ต้องทำอะไร :

  1. บริจาคทุนทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์ เพื่อสมทบเข้าโครงการ/กิจกรรมที่มูลนิธิฯ ดำเนินการอยู่
  2. แนะนำบุคคลหรือหน่วยงานที่มีศรัทธาและต้องการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองเด็ก สนับสนุนงบประมาณกิจกรรมของมูลนิธิฯ  โดยแนะนำช่องทางการติดต่อกับบุคคลหรือหน่วยงานนั้น เช่น  ชื่อ เบอร์ติดต่อ เป็นต้น   หรือ พามารู้จักพูดคุยแลกเปลี่ยนการทำงานของมูลนิธิฯ
  3. ช่วยเขียนโครงการเสนอขอรับทุนจากแหล่งทุนต่างๆ ที่คุณรู้จักและมีเครือข่าย
  4. จัดกิจกรรมระดมทุนตามความสามารถ เช่น  ขายของมือสอง  เล่นดนตรีเปิดหมวก  ประมูลสิ่งของ  ตั้งกล่องบริจาคในร้านค้า/หน่วยงานของคุณ จัดกิจกรรมพิเศษร่วมกับเพื่อนหรือหน่วยงาน ฯลฯ  เพื่อนำมาสนับสนุนให้มูลนิธิฯดำเนินงานเข้าช่วยเหลือเด็กที่ถูกทารุณกรรมได้อย่างทันท่วงทีและครบวงจร

สิ่งที่คุณจะได้ :  ความภาคภูมิใจและความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานสนับสนุนให้เหล่าผู้พิทักษ์เด็กทั้งหลายสามารถทำงานเพื่อเด็กๆ   ต่อไปได้

สนใจสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก “ผู้พิทักษ์เด็ก” ติดต่อได้ที่ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
โทรศัพท์  0-2412-0738  อีเมล์  volunteercpcr@gmail.com  เว็บไซต์ www.thaichildrights.org

291