สื่อสารอย่างไรให้เกิดผล….ดี

การสื่อสาร หมายถึง การแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล ความคิดเห็น ความเรียกร้องต้องการ ความคาดหวังซึ่งแต่ละฝ่ายมีต่อกัน และอาจจะมีความผูกพันซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นการสื่อสารไม่ใช่เพียงแค่การพูดกันเฉยๆทั่วไป หากแต่อยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนความคิด ข่าวสารข้อมูล ความคาดหวัง ความผูกพัน และการมีสัมพันธภาพระหว่างกัน

ดังนั้น หากเราจะบอกว่าครอบครัวของเรามีการสื่อสารกันมากน้อยแค่ไหน   คงต้องลองหันมามองดูว่าในแต่ละวัน   เราคุยกันเพียงแค่คำถามประจำวัน เช่น กินข้าวหรือยัง วันนี้มีการบ้านหรือไม่ หรือไปทำอะไรมา หรือเรามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็น ความต้องการ ความคาดหวัง หรือความรู้สึกระหว่างกัน เพราะการสื่อสารในแบบหลังจะทำให้เกิดความผูกพันระหว่างกันได้มากกว่า

นอกจากความหมายที่ลึกซึ้งของการสื่อสารแล้ว การสื่อสารยังมีหลายแบบทั้งแบบที่ก่อให้เกิดผลดี และก่อให้เกิดผลที่ไม่ดี

ไม่สื่อสาร…ต้นเหตุความห่างเหิน

การไม่สื่อสาร คือ การที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่สนใจหรือไม่พยายามรับฟังสิ่งที่เด็กพยายามจะบอกเล่าให้ฟัง บางครั้งเด็กต้องการระบายความทุกข์ ถ้าหากว่าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่รับฟัง เด็กจะมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่เป็นที่ต้องการ ไม่เป็นที่ยอมรับ รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนเกินของพ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นส่วนเกินของครอบครัว ส่งผลทำให้เด็กรู้สึกทุกข์ใจหรือกังวลใจว่าไม่มีใครเหลียวแล รวมไปถึงอาจจะมีความโกรธแค้นที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ยอมใส่ใจ  เด็กจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของเขาได้   ยังส่งผลให้เด็กถอยห่างออกจากพ่อแม่ผู้ปกครอง และหันไปหาเพื่อน ซึ่งพร้อมที่จะเป็นที่พึ่งพิงมากกว่า   การสื่อสารแบบนี้จะเป็นการทำลายความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกอย่างมากทีเดียว

ด่วนสรุป…สร้างความขัดแย้ง

การสื่อสารแบบด่วนสรุป คือ การที่พ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่ทันได้รับรู้รายละเอียด แต่รีบด่วนสรุปในลักษณะที่ตำหนิติเตียน หรือไปลงโทษเด็ก โดยเฉพาะอาจจะมีการตีโพยตีพายในบางปัญหา เช่น ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ เรื่องเรียน เรื่องการเข้าสังคมของเด็ก เรื่องเด็กถูกข่มเหงรังแก คือพ่อแม่สรุปเอาว่าเด็กเกเร หรือคิดว่าเด็กไปก่อปัญหาก่อน เด็กจะรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้รักตัวเอง ไม่ได้สนใจทุกข์สุข และไม่ได้มีส่วนร่วม    ไม่ได้เป็นที่พึ่งพิงให้แก่เขา  ไม่ปกป้องคุ้มครองเด็ก   เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า และจะมีความเจ็บปวดทุกข์ใจอย่างมาก รู้สึกกังวล โกรธ ที่พ่อแม่ไม่ตอบสนองความต้องการที่จำเป็นและสำคัญ      ยิ่งหากผู้ปกครองมีการสื่อสารกับเด็กที่แตกต่างไปจากเด็กคน   เด็กจะมีลักษณะอิจฉาริษยา เคียดแค้นชิงชัง ตอบโต้ เมื่อโตขึ้นเขาอาจจะข่มเหงรังแกเด็กอื่น   เด็กกลุ่มนี้จะมีแนวโน้มใช้สารเสพติดเพื่อตอบสนองความสุข หรือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนมากหน้าหลายตา    เพื่อทดแทนความทุกข์ใจจากครอบครัว

กล่าวโทษ….ชนวนความรุนแรง

พ่อแม่ที่สื่อสารกันในลักษณะตีโพยตีพายหรือกล่าวโทษคนอื่นตลอดเวลา มักจะหวาดระแวงกลัวคนอื่นคิดร้าย แม้ว่าเด็กจะปฏิบัติดี       ผู้ปกครองมองเด็กในแง่ลบตลอดเวลา  และมักระบายอารมณ์กับเด็กหรือคนรอบข้าง       เด็กจะอยู่ในบรรยากาศของความรุนแรง ทั้งทางวาจาและการทำร้ายร่างกาย      เด็กจะรู้สึกเครียดจากการถูกทำร้ายซ้ำซาก โดยที่ไม่สามารถคาดคะเนได้ แล้วแต่อารมณ์ผู้ปกครอง เมื่อเด็กกลุ่มนี้โตขึ้นเป็นวัยรุ่นจะมีแนวโน้มทำร้ายผู้ปกครอง หรือบางคนอาจหนีออกจากบ้าน  หรือเด็กเหล่านี้จะมีภาวะสิ้นหวัง อ่อนแอ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองด้านต่างๆ    เด็กมีลักษณะซึมเศร้า อาจฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย

เอาแต่สั่งสอน….สร้างการปฏิเสธ

การสื่อสารที่มักเริ่มต้นด้วยการสั่งสอน ด้วยพ่อแม่คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เจตนาดี การสื่อสารแบบนี้ถือว่าเป็นความรุนแรง เพราะเด็กไม่ได้พร้อมจะฟังการสั่งสอนตลอดเวลา โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่สมองส่วนหน้ากำลังพัฒนา เขาต้องการการแลกเปลี่ยนและถกเถียงกันด้วยเหตุผล แลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น เพราะเด็กวัยรุ่นต้องการมีอิสระ ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ทำให้เขาเริ่มคิดเป็นใช้เหตุผลเป็น วินิจฉัยปัญหาด้วยตนเองได้ ไม่เหมือนเด็กวัยประถมหรือต่ำกว่า 12 ปี การสื่อสารแบบสั่งสอนทำให้เด็กมีลักษณะโต้แย้งพ่อแม่ตั้งแต่เริ่มรับฟัง ทั้งเรื่องเพศ การเที่ยวเตร่ การตามแฟชั่น การเข้าสังคม การเล่นเกม โดยพฤติกรรมโต้แย้งของลูกมักทำให้พ่อแม่รู้สึกทนไม่ได้และต้องการหยุดยั้ง ดังนั้นผู้ปกครองกับเด็กจะเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จะมีความเกลียดชังกัน อาจมีแนวโน้มนำไปสู่ปัญหาเด็กหนีออกจากบ้าน หรือหากไม่หนีออกจากบ้าน ก็จะมีลักษณะก้าวร้าวคุกคามผู้ปกครอง ไม่รับฟังผู้ปกครอง เพราะผู้ปกครองเอาแต่สอนอย่างเดียว

สื่อสารปกติ….รับฟังและสื่อสารตามพัฒนาการ

การสื่อสารปกติมี 2 ลักษณะ คือ

1.การรับฟังลูก  หากลูกพูดถึงปัญหา พ่อแม่ควรค่อยๆสืบหาความจริงว่าเป็นอย่างไร     พร้อมทั้งช่วยเด็กวิเคราะห์ปัญหา ค้นหาสาเหตุของปัญหา   หาทางแก้ปัญหา และกำหนดวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน

2.การสื่อสารที่เป็นลักษณะกระตุ้นพัฒนาการเด็ก       โดยพ่อแม่ต้องคำนึงว่าเด็กแต่ละวัยมีพัฒนาการไม่เท่ากัน เช่น

  • เด็กแรกเกิดถึง6ขวบ จะเป็นช่วงวัยที่ยังคิดอะไรไม่ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล    ยังรับฟังเหตุผลไม่เป็น เพราะสมองยังไม่พัฒนาถึงจุดนั้น วิธีการแทรกแซงเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คือ ต้องเบนความสนใจ    ต้องพยายามกันเขาออกจากปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดปัญหาพฤติกรรมนั้น    หรืออาจมีการสื่อสารบอกซ้ำๆ แม้ว่าเด็กวัยนี้สมาธิจะสั้น แต่มีความจำที่ดี    เพราะสมองส่วนความจำกำลังพัฒนา เพราะฉะนั้นหากต้องการให้เด็กมีพฤติกรรมอย่างไรต้องทำซ้ำๆให้ดู     ไม่ควรใช้การลงโทษ
  • ส่วนเด็กในวัยประถม( 7 ถึง12 ปี)     เด็กสามารถคิดเป็นเหตุเป็นผลได้      ถ้าเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่ดี ต้องสื่อสารพูดคุยว่าพฤติกรรมที่ทำนี้ไม่เหมาะสม และควรบอกด้วยว่าไม่เหมาะสมอย่างไร    ทำไมจึงไม่ควรปฏิบัติ
  • ส่วนในเด็กวัยรุ่น ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้โต้เถียง ซักถาม    เด็กวัยรุ่นต้องการคำตอบที่ลึกซึ้งกว่าเด็กวัยประถม      เขาต้องการการถกเถียงจนกว่าจะจำนนต่อเหตุและผล    พ่อแม่จะรู้สึกว่าเด็กวัยรุ่นมีลักษณะท้าทาย    ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่   อันที่จริงแล้วพฤติกรรมเช่นนี้เป็นพัฒนาการของเด็กวัยนี้   ไม่ใช่เขาไม่เชื่อฟัง แต่เขารับฟังและต้องคิดและให้เหตุผลด้วยตนเอง   พ่อแม่ควรสื่อสารในลักษณะที่เปิดโอกาสให้เขาแสดงความคิดเห็น แสดงความเข้าใจ แสดงความรู้ของเขา        เปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งกัน พ่อแม่ไม่ควรจะโกรธที่ลูกโต้แย้ง     เพราะหากพ่อแม่โกรธจะไม่สามารถทำให้สื่อสารเป็นปกติได้      พ่อแม่มักไม่ยอมรับลูกเมื่อลูกเป็นวัยรุ่น เพราะลูกมักมีการโต้แย้ง ซึ่งถ้าหากพ่อแม่เข้าใจว่าเป็นพัฒนาการตามวัย     จะช่วยให้พ่อแม่สามารถสื่อสารกับลูกได้อย่างเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    109