หลายครั้งที่ความรุนแรงกับเด็กเกิดขึ้นวนเป็นวัฎจักร จากรุ่นสู่รุ่น ส่งต่อกันเพราะแบบอย่างที่เห็น และจากประสบการณ์ที่เคยถูกกระทำมาก่อน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัย หากเรารู้เท่าทันและสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไข ความรุนแรงก็จะหมดไป ความรุนแรงต่อเด็ก หยุดได้ เริ่มที่เรา
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงต่อเด็ก
ตัวเด็ก เป็นเด็กเลี้ยงยาก ป่วยเป็นโรคบางอย่าง เช่น สมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ ฯลฯ ผู้ปกครองไม่เข้าใจคิดว่าเด็กดื้อ ซน ไม่เชื่อฟัง จึงเกิดการทำร้ายทางร่างกาย ใช้ความรุนแรงในการเลี้ยงดูเด็ก
ครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองเคยถูกเลี้ยงดูด้วยความรุนแรงมาก่อน ผู้ปกครองมีความเครียด กังวล ทะเลาะกัน ผู้ปกครองเด็กมีปัญหาสุขภาพจิต ใช้สารเสพติด ควบคุมและจัดการอารมณ์ของตนเองไม่ได้ ขาดทักษะในการเลี้ยงดูเด็ก
โรงเรียน มีการกลั่นแกล้งกันระหว่างเด็กกับเด็ก ผู้ใหญ่กับเด็ก คุณครูไม่เข้าใจพฤติกรรมเด็ก ครูจัดการอารมณ์ตนเองไม่ได้
สังคม สื่อมีการผลิตซ้ำเรื่องของความรุนแรง เผยแพร่ในวงกว้าง ทั้งในสื่อทีวี อินเตอร์เน็ต
ช่วยลดความรุนแรงต่อเด็กได้อย่างไร?
ตัวเรา ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ จะเป็นพ่อแม่ หรือจะเป็นคนที่ไม่ใช่พ่อแม่ เริ่มต้นด้วยการไม่แสดงออกความรุนแรง และไม่ยอมรับรูปแบบของความรุนแรงทุกรูปแบบ
ครอบครัว พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทั้งด้านร่างกายและการใช้คำพูดที่รุนแรงต่อกัน พูดคุยกันด้วยความมีสติและเหตุผล สื่อสารเชิงบวก พยายามหาวิธีการจัดการกับอารมณ์ ใช้วินัยเชิงบวกในการเลี้ยงดูเด็ก มีความรัก ความผูกพันกันในครอบครัว เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก สิ่งสำคัญที่เด็กต้องการพื้นฐาน นอกจากปัจจัยสี่ที่ให้มีชีวิตอยู่รอดแล้ว มีสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความต้องการทางด้านจิตใจ ความรู้สึกที่เด็กๆ จะรู้สึกมั่นคงว่ามีคนดูแล เด็กจะรู้สึกได้ว่าตนเองจะมีคนให้พึ่งพา และชีวิตจะดำเนินไปได้ด้วยความสุขและความปลอดภัย นี่เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตเด็กๆ
โรงเรียน มีนโยบายหรือแนวทางการป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างเด็กกับเด็ก และระหว่างครูกับเด็ก ใช้วินัยเชิงบวกเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก
สังคม ไม่เผยแพร่สื่อที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง หรือไม่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในการเผยแพร่ความรุนแรง ไม่นิ่งเฉย เป็นหูเป็นตา เมื่อพบเห็นการใช้ความรุนแรงกับเด็ก โทร.แจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300