พฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ (Grooming)

คนที่คิดจะละเมิดทางเพศต่อเด็ก (และสตรี) จะมีกระบวนการที่เป็นรูปแบบซึ่งสังเกตได้ง่าย คือ เริ่มดึงเด็กให้เข้าใกล้โดยการสร้างความไว้วางใจก่อน บางครั้งอาจเข้าหาผู้ปกครองเด็กเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ไว้วางใจและยอมปล่อยให้เข้าใกล้ชิดหรืออยู่ตามลำพังกับเด็กได้ กระบวนการนี้อาจใช้เวลาหลายเดือนหรือแม้กระทั่งหลายปี เพื่อก้าวข้ามการระวังป้องกันตัวของเด็กและเพิ่มการยอมรับการสัมผัสร่างกาย มักจะเป็นไปตามลำดับดังต่อไปนี้

  • มองหาและเลือกคนที่ต้องการให้เป็นเหยื่อ มักเลือกคนที่มีความเปราะบางในด้านต่าง ๆ เช่น โหยหาความรักความอบอุ่นหรือการยอมรับ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง โดดเดี่ยวหรือผู้ปกครองละเลย ไม่เอาใจใส่ใกล้ชิด
  • สร้างความไว้วางใจ ผู้กระทำจะเฝ้าสังเกตและพยายามทำความรู้จักเหยื่อและรู้ว่าเหยื่อมีความต้องการอะไรบ้าง และจะตอบสนองความต้องการนั้นได้อย่างไร ผู้กระทำอาจเริ่มแนะนำ 'ความลับ' หรือการแอบทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยกันเพื่อให้เด็กไว้ใจและแยกเด็กออกห่างจากครอบครัว เช่น ยอมให้เด็กทำอะไรบางอย่างที่ตามปกติผู้ปกครองจะไม่อนุญาตให้ทำ
  • ตอบสนองความต้องการ หลังจากรู้ว่าเด็กต้องการอะไรแล้ว ผู้กระทำก็จะพยายามตอบสนองด้วยการให้สิ่งเหล่านั้น เช่น ของใช้ แสดงความรักความเอาใจใส่ เริ่มมีบทบาทสำคัญในชีวิตเด็ก
  • แยกเด็กออกจากผู้ดูแล ผู้กระทำอาจเสนอตัวเข้ามาดูแลเด็กเวลาที่ผู้ปกครองไม่ว่าง หรือพยายามทำอย่างอื่นเพื่อสร้างโอกาสที่จะได้อยู่ตามลำพังกับเด็กโดยไม่มีใครมาขัดจังหวะ ผู้ปกครองบางคนอาจตกหลุมพรางนี้เพราะดีใจที่มีคนมาสนใจหรือเอาใจใส่ลูก
  • เริ่มแสดงออกทางเพศกับเด็ก มักจะเริ่มจากการสัมผัสที่ดูเป็นธรรมชาติก่อน เช่น โดนตัวโดยบังเอิญหรือสัมผัสร่างกายโดยการหยอกหรือเล่นกับเด็ก เพื่อให้เด็กคุ้นเคยและจะได้ไม่ขัดขืนเมื่อยกระดับเป็นการสัมผัสแบบทางเพศมากขึ้น ผู้กระทำจะฉกฉวยประโยชน์จากความอยากรู้อยากเห็นของเด็กเพื่อทำให้ปฏิสัมพันธ์นั้นเป็นการละเมิดทางเพศมากขึ้นไปอีกตามลำดับ
  • ใช้การควบคุม พฤติกรรมนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้กระทำได้ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กแล้ว และต้องการที่จะทำต่อไปเรื่อย ๆ และบังคับให้เด็กทำตามความต้องการของตนเอง จะใช้การข่มขู่หรือการสร้างความรู้สึกผิดเพื่อบังคับให้เด็กเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ และทำให้เด็กต้องร่วมมือให้ละเมิดทางเพศต่อไปและไม่กล้าบอกใคร เช่น อาจขู่ว่า 'ถ้าเอาเรื่องนี้ไปบอกแม่ แม่ก็จะเกลียดหนูนะ' หรือ 'ถ้าไปบอกใครฉันจะทำร้ายคนในครอบครัวเธอ' ผู้กระทำอาจตำหนิเด็กที่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น หรือทำให้เห็นเป็นเรื่องปกติ โดยบอกเด็กว่ามัน 'เป็นเรื่องธรรมดา'

หากคุณหรือคนที่คุณรู้จักถูกละเมิดทางเพศ โปรดติดต่อพนักงานคุ้มครองเด็กในจังหวัดของคุณ หรือโทร มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196 (ในเวลาราชการ) หรือ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

ขอขอบคุณข้อมูล : ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา  มูลนิธิศานติวัฒนธรรม

อ้างอิงจาก Dooling, N. (2011), Dr. Michael Welner, The Ithaca Journal; Darkness to Light: End Child Sexual Abuse, 7 Steps to Protecting Our Children; Massachusetts Citizens for Children: Enough Abuse Campaign, Prevention Tip #1 Signs of Abusers; King County Sexual Assault Resource Center, How to Identify Grooming Tactics & Prevent Sexual Assault

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    7,198