ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก  เรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องป้องกัน!!

การล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดจากบุคคลภายในครอบครัว  มักถูกนำมาพบบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากการถูกล่วงละเมิดมักเกิดขึ้นเป็นเวลานานและมีผลกระทบต่อเด็กอย่างรุนแรง ซึ่งต้องการการบำบัดฟื้นฟูระยะยาว

ผู้ล่วงละเมิดต่อเด็กมักเป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ และมักเป็นบุคคลที่เด็กไว้วางใจและมีอำนาจเหนือเด็ก เช่น ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ครู เป็นต้น

ถ้าเด็กบอกว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ ให้เชื่อไว้ก่อนว่าเป็นความจริง เด็กบางคนอาจไม่กล้าบอกเมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและอารมณ์บางอย่างอาจเป็นข้อบ่งชี้  ซึ่งผู้ปกครองควรสังเกตบุตรหลานของตน

ลักษณะของการล่วงละเมิดทางเพศ  มีรูปแบบต่างๆดังนี้

  • การล่วงละเมิดโดยไม่มีการสัมผัส ได้แก่
  • การเปิดอวัยวะเพศให้เด็กดู
  • การให้เด็กดูภาพหรือวิดีโอโป๊
  • การสำเร็จความใคร่ต่อหน้าเด็ก
  • การทำกิจกรรมทางเพศให้เด็กดู
  • การล่วงละเมิดโดยการสัมผัส
  • การสัมผัสกอดจบลูบคลำร่างกายหรืออวัยวะเพศของเด็ก
  • การให้เด็กลูบคลำจับต้องอวัยวะเพศของผู้ใหญ่ หรือให้เด็กสำเร็จความใคร่ให้
  • การสอดใส่อวัยวะเพศ หรือสิ่งของอย่างอื่นทางช่องคลอด หรือ ทวารหนัก หรือ ทางปาก ของเด็ก
  • การใช้เด็กเพื่อหาผลประโยชน์
  • การใช้เด็กในการถ่ายภาพหรือวิดีโอโป๊
  • การใช้เด็กค้าประเวณี

 ผลกระทบของการทารุณกรรมทางเพศต่อเด็ก

การทารุณกรรมทางเพศมีผลต่อเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะถ้าเกิดจากบุคคลใกล้ชิด เช่น บิดา

  • ผลกระทบต่อพฤติกรรมทางเพศ

เด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกกระตุ้นทางเพศก่อนวัยอันควร จะส่งผลกระทบทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ยั่วยวนทางเพศ เด็กเล็กอาจแสดงออกมาโดยการสำเร็จความใคร่บ่อยๆ ในเด็กวัยรุ่น อาจมีความสำส่อนทางเพศ

  • ผลกระทบทางอารมณ์
  • รู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า เสียหาย
  • รู้สึกผิด รู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ เพราะตัวเองน่าจะปฏิเสธหรือต่อต้าน รู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบในการเปิดเผยความลับและทำให้ครอบครัวแตกแยก (ความรู้สึกผิด เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เด็กไม่กล้าบอกเล่าเรื่องที่ตนถูกล่วงละเมิดทางเพศให้ผู้ปกครองฟัง)
  • ความกลัว ซึ่งอาจแสดงออกมาโดยอาการนอนไม่หลับ หวาดผวา ฝันร้าย
  • ซึมเศร้า ถดถอย จากการสูญเสียครอบครัว
  • เสียความภูมิใจในตนเอง
  • ขาดความไว้วางใจผู้อื่น
  • ขาดทักษะสังคม เนื่องจากไม่สามารถสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมทั้งเด็กที่มีผลกระทบจากการทารุณกรรมทางเพศ มักมีความก้าวร้าว มีการแสดงออกทางเพศที่ไม่เหมาะสมทำให้ขาดเพื่อน

พบเห็นหรือสงสัยว่าเด็กถูกทารุณกรรมทางเพศ แจ้งได้ที่

ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร 1300 หรือ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด

ข้อมูล : คู่มือปฏิบัติงานของทีมสหวิชาชีพในกระบวนการคุ้มครองเด็ก มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

อินโฟกราฟิก :  มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    15,749