“ศิลปะบำบัด” เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เด็กสามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึก ผ่านอุปกรณ์สี กระดาษ ดินสอ ฯลฯ เพื่อบอกเล่าความรู้สึกต่างๆ ออกมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานศิลปะ คลายจากความตึงเครียด    หลังจากช่วงกักตัวในช่วงสถานการณ์เฝ้าระวังการระบาดเชื้อไวรัส โควิด-19 (COVID-19)  เพราะเด็กหลายคนมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ดูแล เด็กหลายคนแยกย้ายเพื่อเรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น โอกาสในการทำงานศิลปะบำบัดเพื่อดูแลใจเด็ก ๆ จึงเกิดขึ้น

เด็กคนหนึ่งใช้สีชอล์คหลากสีสันจุดลงบนกระดาษแรง ๆ เสียงดังเป็นเวลานานเพื่อทำต้นซากุระ เป็นการระบายความกังวลจากการแยกจากเพื่อไปสถานดูแลแห่งใหม่ เด็กบางคนที่มีครอบครัวเคยติดต่อเยี่ยมครอบครัวได้ ก็ต้องหยุดเพราะสถานการณ์โควิด19 ที่กำลังระบาดหนัก เด็กรู้สึกเศร้า คิดถึงคนในครอบครัว อยากกลับบ้าน ศิลปะช่วยรองรับความรู้สึกนั้นและปลดปล่อยอารมณ์ด้วยการใช้มือสัมผัสสี อุปกรณ์ศิลปะที่เปียก เย็น ลื่น เหนียว อย่างช้าๆ จดจ่อกับการใช้มือสัมผัส ทำให้อยู่กับปัจจุบันขณะมากขึ้น

ในบ้านพักเด็กจะมีเด็กอยู่รวมกันหลายคน บ้างเป็นวัยที่ก้าวเข้าสู่วัยรุ่น มักมีหลากหลายเรื่องราวหงุดหงิด ว้าวุ่น กระทบกระทั่งกัน ศิลปะบำบัดได้ให้พื้นที่และให้โอกาสสำหรับเด็กในการทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง  บางคนโกรธเรื่องในปัจจุบัน เช่น โกรธเพื่อนแกล้ง เพื่อนแหย่ โกรธตัวเองที่ควบคุมตนเองไม่ได้  บางคนโกรธเรื่องในอดีต โกรธแม่ที่ทำร้ายตัวเอง  มีความขุ่นข้องของอารมณ์มากมายในอดีตหรือปัจจุบัน   ได้ค่อยๆถูกจัดการด้วยศิลปะบำบัด เพื่อปลดปล่อยความโกรธ ( released anger )โดยให้เด็กได้ระบายออก ในทุกรูปแบบกิจกรรม แล้วค่อยๆ เปลี่ยน ( transform )ความโกรธไปสู่สิ่งสร้างสรรค์  เด็กหลายคนได้สื่อสาร พุดคุย ระบายอารมณ์ และมีผู้ใหญ่คอยรับฟังโดยไม่ตัดสิน ทำให้เด็กได้รู้จักอารมณ์ เท่าทัน เติบโต และมีขอบเขตทางอารมณ์มากขึ้น  จึงไม่แปลกเวลาที่เด็กทำกิจกรรมศิลปะบำบัดช่วงท้ายชั่วโมง เด็กจะเริ่มมีร้องเพลงคลอเบาๆ  เคลื่อนไหวด้วยความสุข  แม้ความโกรธ ความเครียด ความกังวล ความเศร้าลึกๆ ยังคงอยู่  วันนี้ได้ระบายออกไปบ้าง แม้ว่ายังไม่หายไปทั้งหมด แต่เด็กก็รู้สึกเบา และสบายใจมากขึ้น

ศิลปะบำบัดนับเป็นกิจกรรมที่รองรับทุกสภาวะอารมณ์ของเด็ก เป็นสิ่งที่เด็กรอคอย  ช่วยให้เด็กได้ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึก  มีความสุขกับชีวิตปัจจุบันและไม่กังวลกับอนาคตของตนเองมากนัก อีกทั้งมีความลุ่มลึกต่อเนื่อง ได้เห็นความคลี่คลาย จึงช่วยดูแลใจเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี ช่วยให้เด็กมีชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับ

ผู้เขียน : สายใจ ศรีลิ้ม นักศิลปะบำบัด มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

สนับสนุนการทำงานโดย :

Volkswagen Working Council

48