ปัญหาความก้าวร้าวรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวหรือชุมชน เกิดจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่

๑) ปัจจัยทางร่างกาย ความผิดปกติที่สมอง เช่น มีความเสียหายที่สมองส่วนหน้าโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับ Executive Function มีภาวะสมองเสื่อมหรือพิการทางสมอง ทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเอง หรืออาจเสพยาเสพติดอย่างต่อเนื่องจนสมองเกิดความเสียหาย

๒) ปัจจัยทางจิตใจ มีความผิดปกติทางอารมณ์จิตใจ ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ตนเอง (Emotional Regulation) หรือมีอารมณ์แปรปรวน (Mood Disorder) ซึ่งอาจเกิดจากบรรยากาศที่กดดันไม่เป็นมิตรหรือมีสถานการณ์การใช้ความรุนแรงในครอบครัว สถานศึกษา สถานที่ทำงาน จนเป็นโรคเครียด (Stress Disorder) ทั้งนี้บุคคลบางคนอาจหันไปใช้ยาเสพติดเพื่อแก้ปัญหาทางจิตใจของตน จนสมองเสียหายเพิ่มขึ้นด้วย

๓) ปัจจัยทางสังคมแวดล้อมในครอบครัว ชุมชน ที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในทางลบระหว่างกัน เด็กที่เติบโตในครอบครัวที่ปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง ทำให้เด็กมีความผูกพันกับคนแวดล้อมเป็นแบบไม่มั่นคง ทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนามิตรภาพ (Friendship) และความผูกพัน (Intimacy) กับผู้อื่น โดยเฉพาะขาดความรู้สึกหนาวร้อนกับความทุกข์ของผู้อื่น (Empathy)

นอกจากนี้มีปัจจัยเรื่องการเลี้ยงดูของครอบครัว ได้แก่

ก) ผู้ปกครองไม่ให้การดูแลขั้นพื้นฐาน (basic care) ไม่ว่าจะเป็นการกินอยู่ เล่น นอนหลับ พักผ่อน หรือทำกิจวัตรประจำวัน

ข) ไม่มีหลักประกันว่าผู้ปกครองจะปกป้องให้ปลอดภัยจากอันตรายใด ๆ (ensuring safety)

ค) ผู้ปกครองไม่ให้ความอบอุ่นด้านจิตใจและเป็นที่พึ่งทางใจ (emotional warmth) ทั้งยังอาจซ้ำเติมเด็ก ผู้ปกครองไม่กระตุ้นพัฒนาการเด็กตามวัย (stimulation) แม้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กขาดทักษะการดูแลตนเอง ทักษะชีวิตต่างๆ แล้ว ยังไม่มีทักษะการจัดการปัญหา ทักษะคลี่คลายความขัดแย้ง

ทั้งข้อ ข) และ ค) ทำให้เด็กเกิดความหวาดระแวงว่าผู้อื่นจะคิดร้ายได้โดยง่าย

ง) ผู้ปกครองไม่ชี้แนะแนวทางชีวิต (guidance and boundaries) ให้แก่เด็ก ทำให้เด็กขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง ไม่มีเป้าหมายชีวิต ขาดทักษะสังคม และมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ

จ) ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลไม่ตอบสนองต่อความต้องการจำเป็น (Needs) หรือความต้องการรับการพัฒนาของเด็กอย่างทันกาลและเสมอต้นเสมอปลาย (stability) ทำให้เด็กขาดความรู้สึกมั่นคงในจิตใจ รู้สึกว่าชีวิตไม่มั่นคง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไม่อาจพัฒนากระบวนการรู้คิด (Cognitive processes) ซึ่งบริหารจัดการความคิดของตน ไม่สามารถกำหนดพฤติกรรมของตน และไม่สามารถควบคุมตนเอง จึงมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น เมื่อขาดทักษะต่างๆ และอาจเกิดความหวาดระแวงว่าผู้อื่นจะคิดร้ายหากเคยถูกผู้ปกครองกระทำทารุณกรรม

ข้อมูล : เอกสารการพัฒนากลไกแก้ไขป้องกันการใช้ความรุนแรงในระดับชุมชน ,นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้เขียน

อินโฟกราฟิก : มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    3,632