รู้ไหมว่าเด็กทุกคนมีสิทธิเล่น  อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในข้อที่ 31 ระบุว่า เด็กจะมีการพักและเวลาพักผ่อน การเข้าร่วมกิจกรรม การละเล่น สันทนาการที่เหมาะสมตามวัยของเด็ก และการมีส่วนร่วมอย่างเสรีในทางวัฒนธรรมและศิลปะ

การเล่นเป็นสิทธิเด็กที่สำคัญ เนื่องจากมีผลต่อการเติบโตและพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจของเด็ก การเล่นช่วยให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกาย เกิดความสุข  ได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น  เรียนรู้สิ่งใหม่  ดังนั้นเราทุกคนจึงควรทำความเข้าใจถึงสิทธินี้เพื่อไม่ให้มีการละเมิดสิทธิของเด็ก และเคารพกับสิทธิของเด็กให้มากยิ่งขึ้น   ด้วยการสนับสนุนให้เด็กๆ ได้เล่น ดังนี้

  • มีเวลาเล่น : เด็กควรได้รับเวลาที่เพียงพอในการเล่นและพักผ่อน พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีเวลาเล่นในแต่ละวันอย่างเหมาะสม จะส่งผลดีต่อพัฒนาการทั้งกายและจิตใจของเด็ก
  • ได้เลือกกิจกรรมและการเล่น : เด็กควรได้รับสิทธิในการเลือกเล่นกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถ และความสนใจด้วยตนเอง การเล่นที่ถูกต้องสามารถช่วยในการพัฒนาทักษะต่าง ๆ เช่น การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหา และการคิดสร้างสรรค์ผ่านการเล่น
  • มีพื้นที่เล่น : มีพื้นที่ที่ปลอดภัยและการเข้าถึงอุปกรณ์การเล่นที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กเกิดความสนุกสนาน  สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ และสร้างความปลอดภัยสำหรับเด็ก
  • ได้เล่นกับเพื่อน : การที่เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมหรือเล่นกับเพื่อน จะช่วยสร้างทักษะสังคมและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น  ครอบครัวควรเปิดโอกาสให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ได้ร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อนตามวัยอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ
  • เล่นเพื่อการเรียนรู้ : เพราะการเล่นของเด็ก คือการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่อยู่รอบตัว การปล่อยให้เด็กได้เล่นอย่างสนุกสนาน เล่นอิสระ ได้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิทธิในการเล่นของเด็ก  เป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ  ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และสังคม  พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรให้การดูแลเด็กบนพื้นฐานของการเคารพในสิทธิเด็ก  เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ ปลอดภัย เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตตามวัย

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    379