รับฟัง 'เสียงของเด็ก'
หลักการอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยร่วมลงนาม ระบุไว้ว่า ‘เด็กมีสิทธิในการแสดงออกความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในทุกเรื่องที่ส่งผลกระทบถึงชีวิตและอนาคตของพวกเขา’
การรับฟัง 'เสียงของเด็ก' ไม่ใช่ฟังแค่เสียงที่เปล่งออกมาเป็นคำพูดหรือเสียง แต่เป็นการรับฟังลูก เพื่อให้เข้าใจถึงความรู้สึก ความคิดเห็น ความต้องการของลูกที่แสดงออกมา ซึ่งการรับฟังที่ดีประกอบไปด้วย
ข้อที่ 1 “รับฟังด้วยใจที่เป็นกลาง'
รับฟังสิ่งที่ลูกกำลังจะเล่า และอย่าเพิ่งตัดสินเขา
ข้อที่ 2 'รับฟังจนจบ'
อย่าเพิ่งพูดแทรก อย่าเพิ่งรีบตำหนิ หรือ สั่งสอน
หัวใจสำคัญสำหรับผู้ใหญ่ คือ 'ความมั่นคง' 'สม่ำเสมอ' 'พูดคำไหนคำนั้น' และ 'พร้อมรับฟัง'
ไม่ว่าเด็กจะมาหาเราครั้งแรกหรือครั้งที่เท่าไหร่ เราตอบสนองกลับไปแบบเดิมเสมอ นั่นคือการบอกให้เด็กรับรู้ว่า 'เราไว้ใจได้' และ 'เรามั่นคงปลอดภัย'
ทุกการรับฟังและการพูดคุย 'ขอบคุณลูกที่ไว้ใจพ่อ/แม่' และยอมเล่าให้พ่อ/แม่ฟัง
เพราะก้าวแรกของความไว้ใจ จะนำไปสู่ก้าวต่อไป ๆ
ข้อที่ 3 'รับฟังเพื่อเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง'
หากพ่อแม่ต้องการรู้ว่า “ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร?” ให้รับฟังลูกสิ่งที่ลูกพูด และถามคำถามเพื่อให้ลูกช่วยอธิบายสิ่งที่เขากำลังเผชิญออกมา ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เกิดจากการด่วนสรุป(ที่อาจจะเข้าใจผิดได้) ของผู้ใหญ่เพียงฝ่ายเดียว
ข้อที่ 4 'รับฟังสิ่งที่ซ่อนอยู่'
บางครั้งสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดของลูก คือ 'ความรู้สึก' ที่เขาไม่สามารถบอกออกมาได้ แต่ถ้าหากเราใช้เวลาอยู่กับเขามากพอเราจะมองเห็นความรู้สึกเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น 'ความกลัว' 'ความเศร้า' 'ความกังวล' 'ความโกรธ' และความรู้สึกที่เขาไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ชัดเจน แต่เราสามารถรับรู้ได้หากเรารับฟังลูกจากใจจริง
ข้อที่ 5 'รับฟังเพื่อรับฟัง'
บ่อยครั้งเด็ก ๆ ไม่ได้อยากให้เราช่วยแก้ปัญหาให้ พวกเขาแค่ต้องการระบายสิ่งที่เขารู้สึกออกมาให้เราฟังเท่านั้นเอง เพราะพ่อแม่คือพื้นที่ปลอดภัยของเขา
'รับฟังเรื่องเล็ก ๆ ของลูก เพื่อให้เขารู้ว่า ไม่ว่าจะเรื่องจะเป็นเรื่องอะไร พ่อแม่ยินดีรับฟังเขาเสมอ'
ข้อมูล : อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และเพจตามใจนักจิตวิทยา