พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 หมวด 7 มาตรา 63 ระบุว่า 'โรงเรียนและสถานศึกษา ต้องจัดให้มีระบบงานและกิจกรรมในการแนะแนว ให้คำปรึกษา และฝึกอบรมแก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมความประพฤติที่เหมาะสม ความรับผิดชอบต่อสังคมและความปลอดภัยแก่นักเรียน นักศึกษา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ได้กำหนดในกฎกระทรวง'

โรงเรียนควรมีแนวทาง ระบบ และการดำเนินงานในโรงเรียนที่จะก่อให้เกิดความปลอดภัยสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการจัดสภาพแวดล้อมทางอาคาร สถานที่ เครื่องใช้ เครื่องกีฬา วัตถุอันตราย การมีมาตรการรักษาความปลอดภัยไม่ให้บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งก่ออันตรายให้แก่เด็ก และมีระเบียบและกฎเกณฑ์ที่ทำให้เด็กปลอดภัย

ทั้งนี้ประเด็นความปลอดภัยที่จะต้องนำมาพิจารณา ประกอบกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก มีด้วยกันทั้งหมด 3 เรื่อง คือ
1.การจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย หมายถึง การวิเคราะห์อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสภาพแวดล้อมทางอาคารสถานที่ เครื่องใช้ เครื่องกีฬา วัตถุอันตราย แล้วจัดสภาพแวดล้อมเหล่านั้นให้เหมาะสมเกิดความปลอดภัย มีการตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุงจุดต่างๆอยู่เป็นประจำ  เช่น ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องใช้เครื่องป้องกันอันตราย ได้แก่ เซฟทีคัท เครื่องดับเพลิง อุปกรณ์ฝาครอบปลั๊กไฟฟ้า หรือจัดที่เก็บกล่องใส่ยา ที่เก็บสารเคมีและของมีคมให้พ้นมือเด็ก ตรวจสิ่งชำรุดจัดหาของเล่นที่ปลอดภัยทำด้วยวัสดุและสีที่ไม่เป็นอันตราย ติดตั้งระเบียงลูกกรงที่มีความถี่ มีระดับสูงจนเด็กไม่สามารถปีนป่ายเล่น ประตูปิดกั้นไม่ให้ตกจากที่สูง หรือจัดที่พักให้มีการระบายถ่ายเทอากาศได้สะดวก หากไม่ได้คาดการณ์ความเสี่ยงไว้หรือประเมินสถานการณ์ผิดพลาดอาจทำให้เด็กได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

2.การกำหนดบริเวณที่ปลอดภัย หมายถึง การที่ผู้ใหญ่จะต้องกำหนดและจัดให้เด็กไปอยู่ในบริเวณที่มีความปลอดภัย เช่น บริเวณที่เด็กไปอยู่ต้องไม่เป็นที่ลับตาคน ไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย อยู่ไม่ไกลเกินกว่าที่จะได้ยินเสียง มีการกำหนดบริเวณที่จะไป กำหนดเป็นบริเวณสำหรับเด็กเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นห้องพัก ทำกิจกรรม การเล่น ห้องน้ำห้องส้วมเป็นสัดส่วนแยกจากผู้ใหญ่ การกำหนดวิธีการเดินทางที่ปลอดภัย หากมีการนัดหมายให้เด็กไปทำกิจกรรมนอกโรงเรียน ผู้ใหญ่ควรจะรู้ว่าไปที่ไหน ด้วยวิธีการอย่างไร และตรวจสอบได้เป็นระยะ ทั้งนี้จะต้องให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย การกำหนดให้มีผู้ใหญ่ตั้งแต่สองคนขึ้นไปคอยดูแลความปลอดภัยให้เด็กตั้งแต่ก่อนที่เด็กคนแรกจะมาถึงโรงเรียน จนกระทั่งเด็กคนสุดท้ายออกจากบริเวณโรงเรียน

3.กฎเกณฑ์แห่งความปลอดภัย หมายถึง กฎเกณฑ์ที่ผู้ใหญ่จะต้องกำหนดและให้เด็กได้เรียนรู้ถึงกฎเกณฑ์ของความปลอดภัย เพื่อป้องกันความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดขึ้น เช่น กฎจราจร กฎระเบียบข้อบังคับความปลอดภัยของสถานที่ต่าง ๆ การเดินทางทางน้ำ เครื่องเล่นตามสวนสนุก กฎและระเบียบปฏิบัติความปลอดภัยในโรงเรียน ในบ้าน เช่น กำหนดเวลาในการถึงบ้าน การขับขี่จักรยานอย่างปลอดภัย การใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัย การปฏิบัติเมื่อเกิดไฟไหม้ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับตัวบุคคล โดยการกำหนดตัวบุคคลที่เด็กไปด้วยได้ การไปเป็นกลุ่มกับเพื่อนต้องรู้ว่าไปกับใคร การคบคนแปลกหน้า การปฏิบัติตนต่อเพศตรงข้าม การหลีกเลี่ยงและการเผชิญต่อเหตุการณ์อันตราย เป็นต้น  นอกจากนั้นอาจจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้แก่เด็ก เช่น ฝึกเด็กให้รู้จักประเมินอันตราย รู้จักหลบหลีก รู้จักขอความช่วยเหลือเมื่อมีภัย จัดให้เด็กใช้ชีวิตร่วมกัน ดูแลให้ความเอื้ออาทรแก่กัน ด้วยการเข้าค่ายเดินป่า ค่ายลูกเสือหรือเนตรนารี และค่ายบำเพ็ญประโยชน์ต่าง ๆ

ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ หากผู้ใหญ่ทุกคนตระหนัก ใส่ใจและให้ความสำคัญ เพื่อลูกหลานของเราจะได้เติบโตขึ้นอย่างปลอดภัยและมีความสุข

ข้อมูล: คู่มือครู 'การจัดระบบความปลอดภัยในโรงเรียน' มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    844