เมื่อเราสงสัยหรือทราบว่าเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ เราควรทำอย่างไร????
วันนี้มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กมีคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติให้ท่านค่ะ
- เมื่อเด็กแสดงท่าทีว่าต้องการบอกเล่าเรื่องราวที่เขารู้สึกว่าเป็นปัญหาหรืออยากขอความช่วยเหลือ อย่าผัดผ่อนเพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่าเราไม่สามารถเป็นที่พึ่งของเขาได้ ควรแสดงตนว่าพร้อมที่จะรับฟังเขา ช่วยเหลือเขาในทุกกรณี เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ
- แม้ว่าเรื่องราวที่เด็กเล่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงจนเหลือเชื่อ ก็ขอให้ตั้งสติรับฟังเรื่องราวอย่างสงบ หากเราแสดงอาการตกใจ โกรธหรือเสียใจ เด็กจะหยุดเล่า เพราะไม่มั่นใจว่า เราจะสามารถช่วยเหลือเขาได้หรือไม่ รวมทั้งอาจทำให้เด็กกลัว ว่าจะได้รับความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นหรือไม่
- กรณีที่เด็กไม่สามารถบอกเล่าได้อย่างต่อเนื่องเพราะปัญหาด้านจิตใจหรืออารมณ์ คอยปลอบโยน ให้กำลังใจเด็ก ให้เด็กสบายใจว่าหากเขาบอกเล่าออกมาหมด เขาจะได้รับความปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือทุกเรื่อง อย่าขัดหรือโต้แย้งเด็ก เพราะจะทำให้เด็กเข้าใจว่าเราไม่เชื่อ ไม่รับฟังเรื่องที่เกิดขึ้น ปล่อยให้เด็กพูดทั้งหมดที่เขาต้องการบอกเล่าก่อน แล้วจึงค่อยซักถามในรายละเอียดที่เรารู้สึกว่ายังไม่ชัดเจน
- แม้เด็กจะไม่เล่าว่าผู้กระทำคือใคร ก็ไม่ต้องไปคาดคั้น แต่สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เด็กจะถูกกระทำ เพื่อกำหนดวงผู้ต้องสงสัย และรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กระทำหรือความสัมพันธ์ของผู้กระทำกับเด็กเท่าที่จะทำได้ การทราบว่าผู้กระทำเป็นใคร ไม่จำเป็นต้องให้เด็กระบุตัวหรือบอกชื่อเสมอไป ยังมีวิธีค้นหาอื่นๆอีกมากมาย
- วิเคราะห์ข้อมูล พิจารณาว่าเป็นความจริงหรือไม่ หากเป็นเรื่องที่ไม่จริงรายละเอียดในการเล่าแต่ละครั้งจะไม่ตรงกัน ไม่ปะติดปะต่อ ทั้งนี้ บางครั้งก็อาจเป็นเรื่องจริงก็ได้แต่เด็กอาจมีความสามารถในการสื่อสารน้อย หรือยังมีปัญหากระทบกระเทือนทางจิตใจ จึงเล่ารายละเอียดได้ไม่ชัดเจน ทั้งนี้เราจึงต้องค่อยๆฟังและจับเรื่องราวต่างๆมาวิเคราะห์แล้วหาวิธีการช่วยเหลือต่อไป
- แจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ช่วยเหลือ หรือแจ้งตำรวจทันทีหากทราบรายละเอียดแล้ว โดยแจ้งว่า ผู้กระทำเป็นใคร(หากทราบ) เวลาที่เกิดเหตุ สถานที่ที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันทั้งตัวเด็กเองและเด็กคนอื่นๆไม่ให้เจอสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้
- ระหว่างนี้พาเด็กไว้ในที่ปลอดภัย และมีหลักประกันให้เด็กว่าจะสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างปลอดภัย รวมถึงเก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น เสื้อผ้าที่เด็กใส่ขณะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ขนเพชร ก้นบุหรี่ ถุงยางอนามัย หรืออื่นๆที่ผู้กระทำผิดทิ้งไว้ หากสามารถถ่ายภาพร่องรอยการกระทำไว้ได้ก็เก็บไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้บอกให้เด็กเข้าใจว่าเราถ่ายไปเพื่ออะไร และไม่นำไปเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก
- พาเด็กไปตรวจรักษา (อาจร่วมกับหน่วยงานที่เข้ามาให้การช่วยเหลือ หรือพาเด็กไปตรวจเองก่อนเพื่อความรวดเร็ว) เพื่อรวบรวมหลักฐาน ห้าม!! ชำระร่างกายเด็กก่อนตรวจรักษาเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ไม่พบร่องรอยที่จะเป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้กระทำ หากถูกกระทำผ่านมาหลายวันแล้วก็ควรที่จะตรวจรักษาเพื่อป้องกันโรคติดต่อและตรวจสอบการตั้งครรภ์ด้วย
พบเห็นปัญหาแจ้งเหตุได้ที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196 (ในเวลาราชการ) หรือ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 (ตลอด24ชั่วโมง)
เพราะ “ผู้พิทักษ์เด็ก” ใครๆก็เป็นได้!!!
2,785