พูดคุยกับเด็กได้ตั้งแต่อยู่ในท้องเพื่อสร้างสัมพันธ์

การสร้างความผูกพันกับเด็ก โดยมีการสื่อสารกับเด็ก ด้วยการแสดงออกที่ดีมีความรัก ความผูกพันต่อเด็ก จะทำให้เด็กรักและผูกพันตอบเช่นเดียวกันในทางที่ดี ตัวอย่างเช่น แม้แต่เด็กอยู่ในครรภ์ ถ้าอายุครรภ์ 5 เดือน ประสาทหูเริ่มทำงาน แนะนำให้บุคคลแวดล้อมซึ่งไม่ใช่แม่ พูดคุยกับเด็กในท้อง พูดคุยเพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับเสียงของคนๆนี้ เพราะโทนเสียงของแต่ละคน จะแสดงถึงความอ่อนโยน ความแข็งกระด้าง ความนิ่มนวล ละมุนละไม จะอยู่ที่ลีลาการพูดการออกเสียง เด็กจะได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ที่ดีจากคนที่มาพูดกับเค้าผ่านหน้าท้องของแม่ ตัวแม่เองเค้าก็จะรู้อยู่ตลอดเวลา

แม่ท้องหลีกเลี่ยงจาก ชา กาแฟ สุรา บุหรี่ และความเครียด

ผู้หญิงเวลาตั้งครรภ์ ควรมีอารมณ์ดีทำตัวเองให้อยู่ในสภาพทางอารมณ์จิตใจที่ดี เพื่อไม่มีผลไปถึงตัวเด็ก ถ้าหากแม่เกิดความเครียดก็จะหลั่งฮอร์โมนความเครียด ไปถึงเด็กในครรภ์ผ่านสายสะดือ อารมณ์เครียดของแม่ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 25 วัน อาจก่ออันตรายให้แก่การพัฒนาการของสมอง เพราะอายุครรภ์ 25 วัน เซลล์สมองเริ่มพัฒนาและอาการผิดปกติของเด็ก ADHD (โรคสมาธิสั้น) ออทิสซึม(ภาวะการทำงานของสมองผิดปกติ) เกิดจากช่วงที่ว่านี้ ไม่ได้เกิดจากอารมณ์เครียดของแม่อย่างเดียว เกิดจากแม่ได้รับสารพิษผ่านทางอาหาร อากาศ ทางน้ำ สารที่เป็นพิษภัยต่อสมอง ไม่ว่าจะเป็นสารเสพติด ชา กาแฟ บุหรี่ เหล้า ยากล่อมประสาท ฯลฯ ก็มีผล ตรงนี้เป็นประเด็นที่อาจจะต้องระมัดระวัง

คนในครอบครัวแสดงความรัก สัมผัส อุ้มท่าเดียวกับที่แม่ให้นมเด็ก

เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว คนที่ไม่ใช่แม่เวลาไปอุ้มให้นม ควรอุ้มท่าเดียวกับที่แม่ให้นมลูกคือ หน้าอกติดกัน ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกต่อกันผ่านการสัมผัส

eye to eye contact ประสานสายตา พูดคุยกับเด็ก ยิ้มแย้ม

เมื่อเด็กอายุ 3 เดือนนัยน์ตามีโฟกัส จะมองเห็นสิ่งรอบตัวชัดเจน ซึ่งเป็นจุดที่ดีที่พ่อแม่ผู้ปกครองหรือบุคคลแวดล้อมเด็กต้อง eye to eye contact มองเด็กด้วยสายตาอ่อนโยน ด้วยสายตาที่แสดงความรัก พูดคุยด้วยน้ำเสียงเช่นเดียวกัน จะสร้างความผูกพันที่มั่นคงระหว่างเด็กกับบุคคลแวดล้อมเด็ก ทำให้เกิดความไว้วางใจตามมาด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้เด็กจะมีการพัฒนาและมีการรับรู้เกี่ยวกับตนเองในทางที่ดี ซึ่งโดยปกติมี 2 ด้าน คือ มีความรู้สึกต่อตนเองในทางที่ดี (Sense of self)และมีความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า (Self esteem) การพูดคุยกับเด็กด้วยสายตาและน้ำเสียงที่ดีจะทำให้เด็กรู้สึกเกี่ยวกับตนเองในทางที่ดี เพราะว่ารู้สึกเป็นที่รัก ที่พอใจ และเป็นที่ต้องการของพ่อแม่และบุคคลแวดล้อมเด็ก

เมื่อเด็กร้องไห้ ให้ดึงความสนใจไปที่เรื่องอื่น

กรณีเด็กเล็ก หากเด็กเดินชนโต๊ะ เจ็บเล็กน้อยแล้วร้องไห้ พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าไปดูแล และหันเหความสนใจเด็กไปเรื่องอื่น เด็กก็จะหยุดร้องไห้ได้เร็วขึ้น และผู้ปกครองไม่ควรแสดงออกด้วยการตีโต๊ะ โทษว่าเป็นความผิดของโต๊ะที่ทำให้เด็กเจ็บหรือร้องไห้ เพราะเป็นการแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับเด็ก เป็นการสอนเด็กให้โทษอื่นหากเด็กเติบโตมาในลักษณะนี้จะมีพฤติกรรมที่ไม่ดี

กรณีเด็กโต หากเดินชนโต๊ะบ่อยๆ หรือได้รับบาดเจ็บบ่อยๆจากเหตุการณ์หรือสถานที่เดิมๆ สิ่งของเดิมๆ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหาสาเหตุและปรึกษาแพทย์ เพราะเด็กอาจมีปัญหาการทำงานของสมองบางอย่างผิดปกติ หรือเป็นปัญหาด้านสายตา

สร้างความเชื่อมั่นให้เด็ก ว่าเขาจะไม่ถูกทอดทิ้ง

ในช่วงชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก แรกเกิด-6ปี จะเป็นช่วงชีวิตที่สมองส่วนกลางพัฒนาแบบก้าวกระโดด เมื่อสมองส่วนอารมณ์พัฒนาอย่างก้าวกระโดดสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ Trust เกิดจากความเชื่อมั่นว่า พ่อแม่ต้องมาช่วยตัวเองเสมอไม่ทิ้งแน่นอนจะดูแลแน่นอน ความสัมพันธ์ที่ดีทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาเป็นที่รัก และต้องการของพ่อแม่ เค้ามีคุณค่ากับคนอื่น แน่นอนว่าจะไม่ถูกทิ้ง มีความเชื่อมั่น

เสริมสร้างทักษะทางสังคมและทักษะความปลอดภัยให้กับเด็ก

ขอบเขตที่เหมาะสมทางสังคมระหว่างเด็กกับบุคคลอื่นๆ (social boundary) ที่สอดคล้องกับสถานภาพทางสังคมและเพศของบุคคลอื่นๆ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องถ่ายทอดทางชีวิตประจำวัน โดยเข้าไปทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆร่วมกับลูก ในสมัยก่อนมีเรื่องงานแต่งงาน งานบวช งานศพ โกนผมจุก บวชนาค งานประเพณีต่างๆ เป็นโอกาสอันดีที่พ่อแม่จะพาเด็กไปร่วมกิจกรรมเหล่านี้เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องทักษะสังคม และภัยที่เกิดขึ้นจากบุคคลอื่นๆ ทุกด้าน ไม่ว่าจะเรื่องเพศหรือเรื่องอื่น เช่น ไม่ควรสวมเครื่องประดับ เพราะไม่ได้ทำให้เราสวยงามหรือหล่อ แต่มันเป็นจุดสนใจของอาชญากร มิจฉาชีพ จ้องลักทรัพย์ เป็นอันตรายไม่ได้มีผลบวก ตรงนี้เด็กต้องเรียนรู้ ไม่ใช่เรียนรู้ด้วยการบอกเล่า แต่เรียนรู้ด้วยตัวพ่อแม่ ผู้ปกครอง บุคคลแวดล้อมเด็กก็ต้องไม่สวม แต่พ่อแม่สวมเต็มตัวลูกเห็นก็อยากประดับบ้าง พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ประดับได้แต่ราคาน้อยหน่อย อันนี้คือดึงภัยมาหาลูก ใส่สร้อยพระเครื่อง โชว์ ถูกฆ่าชิงทรัพย์เหล่านี้คือเรื่องความปลอดภัย เพราะฉะนั้นถ้าหากพ่อแม่มีจิตสำนึกในความปลอดภัยของลูก แต่พ่อแม่ไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ ตัวเองจะนำอันตรายมาสู่ลูกโดยไม่รู้ตัว

คอยพูดคุยให้คำปรึกษาและเป็นแบบอย่างที่ดี ให้ความรักความอบอุ่น เติมเต็มกำลังใจ

วิธีเลี้ยงดูให้มีความภาคภูมิใจในตนเอง (self esteem) ให้เด็กมีกำลังใจสามารถพัฒนาตนเองขึ้นมา พ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องราวที่เด็กกำลังบอกเล่าหรือต้องการความช่วยเหลือ ไม่ใช่บอกปัดหรือปฏิเสธเด็ก ไม่ว่าง อารมณ์ไม่ดี จะทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องself พฤติกรรมไม่ดี พ่อแม่ต้องเป็นที่พึ่งทางใจให้ลูก หากโรงเรียนเชิญพ่อแม่ร่วมกิจกรรมก็ควรไป ถ้าไม่ไปแต่เด็กเห็นพ่อแม่ของเพื่อนไปร่วม เด็กก็จะรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า การที่เด็กรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ปัญหาสำคัญที่สุดคือ ด้านอารมณ์จิตใจ ขาดรัก ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง เพราะรู้สึกว่าเป็นคนใช้ไม่ได้ เกิดมาไม่มีค่า ไม่ดี เป็นคนชั่ว คนบาป พ่อแม่ไม่ต้องการ ไปไหนก็ไม่มีใครต้องการ เด็กเหล่านี้จะมีปัญหาพฤติกรรมมาก

ข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ คุณสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ อดีตประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

3,005