หลายครั้งที่คำพูดของพ่อแม่ผู้ปกครอง อาจเป็นคำพูดที่ร้ายจิตใจของเด็กๆอย่างไม่รู้ตัว  อาทิ

• คำพูดที่แสดงอารมณ์ โทสะ ดุดัน และแฝงไปด้วยความไม่พอใจ

เป็นคำพูดที่เราพบกันมากในครอบครัวปัจจุบัน การใช้คำพูดเช่นนี้จะมีผลกระทบทำให้เด็กเกิดความรู้สึกโกรธและรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อพ่อแม่ ทุกข์ใจ ไม่สบอารมณ์ เพราะแทนที่เด็กจะได้เรียนรู้ รับฟังและได้แก้ไขปรับปรุงได้ เกิดความไม่เชื่อถือ เมื่อพ่อแม่พูดอะไร เด็กก็จะไม่เชื่อฟัง เพราะโกรธไม่พอใจพ่อแม่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พ่อแม่พูดไปก็ไม่ค่อยมีประโยชน์ และลูกยังเกิดความรู้สึกต่อต้านอีกด้วย ยิ่งพ่อแม่ทำบ่อยๆ เด็กก็จะเลียนแบบและซึมซับคำพูดของพ่อแม่นั้นเข้าไว้ในตัวเอง นั่นคือ ถ้าเด็กพูดจาก้าวร้าว ดุดัน ก็มาจากพ่อแม่ที่ทำให้เขาเห็นบ่อยๆ นั่นเอง

• คำพูดแบบไม่ก้าวร้าว ดุดันแต่ย้ำพูด ย้ำถาม

เป็นคำพูดที่แสดงความวิตกกังวล แสดงความห่วงใยมากเกินไป ย้ำถาม ย้ำปฏิบัติ โดยไม่รู้ว่าลูกต้องการหรือไม่ต้องการ ย้ำอยู่นั่นเอง แล้วเมื่อย้ำถามเด็กมากๆ จะทำให้เด็กรำคาญ กลับเกิดความรู้สึกวิตกกังวลและความรู้สึกไม่มั่นใจตามไปด้วย ดังนั้นเด็กจะไม่ชอบ ยิ่งเป็นวัยรุ่นยิ่งไม่ชอบและรำคาญ เด็กอาจพาลโกรธไปเลยก็ได้

• คำพูดที่กัดกร่อนใจ

พูดจากินแหนงแคลงใจ พูดกระแหนะกระแหน คือการพูดจาแบบจิกให้เจ็บ ประชดประชัน คำพูดแบบนี้ บางทีพ่อแม่อาจจะคิดว่าพูดประชดแล้วเด็กจะได้รู้ได้มีมานะ ให้รู้ว่าพ่อแม่ต้องการแบบนี้ ไม่ชอบแบบนี้ แต่การพูดประชด พูดกินแหนงแคลงใจ เป็นคำพูดที่ทำให้เด็กเสียใจและเกิดภาพในใจที่ไม่ดี เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อตัวเอง เมื่อพ่อแม่ว่าประชด เด็กจะเสียใจหงุดหงิด คิดว่าตัวเองไม่มีค่าสำหรับพ่อแม่ ทำไมพ่อแม่ต้องพูดอย่างนี้ เราจะเห็นได้บ่อยๆ ว่าการพูดกระแหนะกระแหนหรือพูดให้เจ็บนี้ เป็นสิ่งที่คนไทยถนัดนัก

• คำพูดที่ก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัวอีกอย่างคือ คำพูดที่สื่อออกมาลอยๆ  ไม่มีเป้าหมายว่าพูดกับใคร

เช่น เมื่อแม่กลับมาบ้านแล้วเห็นลูกไม่ทำอะไรเลย พ่อก็ไม่ได้รับผิดชอบงานบ้านอะไร แล้วแม่ก็ว่าขึ้นมาว่า “เบื่อจริงๆ เกิดมาต้องใช้ชีวิตอยู่กับคนไม่รับผิดชอบ” คนที่นั่งอยู่ทั้งพ่อทั้งลูกก็ไม่รู้ว่าแม่ว่าใคร เด็กก็ไม่รู้ว่าดุใคร คิดว่าแม่ดุตัวเอง ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ใช่ ก็เกิดความเข้าใจผิด การพูดขึ้นมาอย่างไม่มีเป้าหมายเป็นคำพูดที่พบบ่อยๆ และทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้จากความเข้าใจผิด

• อีกหนึ่งที่คำพูดที่เป็นปัญหาคือ การไม่พูดความจริงต่อกัน

พูดแล้วผัดวันประกันพรุ่ง สัญญาแล้วไม่เป็นสัญญา พ่อแม่มักจะสัญญาให้ลูกตั้งใจเรียน แล้วพ่อแม่จะพาไปเที่ยว เมื่อลูกตั้งใจเรียนดีแล้ว แต่อีก 10 เดือนก็ยังไม่พาลูกไปจะทำให้เด็กรออย่างมีความหวัง ไม่เพียงเท่านั้น เด็กอาจจะมีความเข้าใจว่าการพูดไม่จริง พูดโกหก เป็นสิ่งที่ทำได้เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นการสัญญาลมๆ แล้งๆ พูดโกหก พูดปด เด็กก็จะทำบ้าง เพราะมีพ่อแม่ทำเป็นตัวอย่าง

• การพูดที่พบบ่อยทั้งในบ้านและโรงเรียน คือการพูดล้อเลียน

การพูดล้อเลียนมากจะทำให้เด็กรู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นปมด้อยของเขา หรือทำให้เขามีอารมณ์โกรธโดยไม่จำเป็น กลายเป็นคนโกรธง่าย หรือขี้โมโหเพราะมีคนไปกระเช้าเย้าแหย่เขามากจนเกินไป

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการใช้คำพูดที่ไม่มีใครต้องการ ไม่มีใครชอบ ส่วนวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดคำพูดที่ไม่ดี รุนแรง เหล่านี้เริ่มจากพ่อแม่ หรือตัวเราเองก่อน หากเราอยากให้ใครพูดอะไรอย่างไร ทำอะไรให้เรา เราต้องให้อย่างนั้นกับคนอื่น ถ้าเราไม่ชอบก็อย่าไปให้อย่างนั้นกับใคร เพราะเมื่อไรที่เราเคยพูดไม่ดี พูดประชด พูดกระแหนะกระแหน ต่อมาเมื่อลูกโตขึ้นและอายุมากขึ้น ลูกจะเอาคำพูดนั้นมาย้อนกลับต่อเรา เราก็จะมีความรู้สึกที่เจ็บช้ำมาก ลูกย้อนก็เพราะเราทำไปอย่างนั้นกับลูก เป็นแบบให้ลูกทำตามมาจนโต ก็เพราะพ่อแม่เป็นต้นแบบนั่นเอง

75