1. จัดสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบโรงเรียนให้เอื้อต่อความปลอดภัยของเด็ก โดยมีการตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุงบริเวณตามจุดต่าง ๆ ของโรงเรียนอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่อาคารเรียน ห้องเรียน สนามเด็กเล่น โรงอาหาร ห้องน้ำ ห้องส้วม ระบบไฟฟ้า ฯลฯ

สนามเด็กเล่น สนามกีฬา สนามหญ้า สวนหย่อม

  1. หมั่นตรวจตราเครื่องเล่นในสนาม เช่น ชิงช้า กระดานหก กระดานลื่นให้อยู่ในสภาพที่มีความมั่นคงแข็งแรงอยู่สม่ำเสมอ หากพบว่าชำรุดจะต้องรีบซ่อมแซมแก้ไขทันที ตัวอย่างเช่น เชือกต้องไม่อยู่ในสภาพที่เปื่อยใกล้ขาดหรืออุปกรณ์ที่ทำจากโลหะ/ไม้ เช่น โซ่ ราวเหล็ก บันได ฯลฯต้องไม่ผุกร่อน
  2. ไม่ควรจัดเครื่องเล่นให้อยู่ชิดกันจนเกินไปเพราะจะทำให้เด็กเล่นกันแล้วชนกระแทกได้ควรมีระยะห่างพอประมาณ
  3. บริเวณในและรอบสนามควรปราศจากก้อนหิน ตอไม้ เศษแก้วของมีคมต่าง ๆ หรือสิ่งของที่อาจทำให้เกิดการบาดเท้าหรือลื่นหกล้ม
  4. ควรมีการวางกฎระเบียบที่ชัดเจนในการเล่นสนามเด็กเล่นหรือการใช้สนามกีฬา เช่น ห้ามไม่ให้เด็กโตมาเล่นสนามเด็กเล่นของเด็กเล็ก  เวลาใช้สนามกีฬาควรสวมรองเท้าผ้าใบ เป็นต้น
  5. นักเรียนทุกคนควรจะได้รับคำแนะนำหรือสอนหรือสาธิตให้ดูถึงวิธีการใช้อุปกรณ์การเล่นหรือเครื่องเล่นต่าง ๆ
  6. สนามเด็กเล่นของเด็กเล็กและเด็กโตควรแยกจากกัน เพราะการเล่นหรือกิจกรรมการออกกำลังกายของเด็กโตจะหนักกว่าและอาศัยความแข็งแรงของร่างกายและทักษะในการเล่นมากกว่าเด็กเล็ก อาจเกิดอันตรายกับเด็กเล็กได้
  7. มีครูคอยเฝ้าดูแลทุกครั้งที่มีเด็กเล่น

ห้องน้ำ

  1. ควรออกแบบห้องน้ำ ห้องส้วมให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก คือ
    • ที่นั่งถ่ายและที่ปัสสาวะของเด็กชั้นอนุบาล ควรมีขนาดเล็กกว่าของนักเรียนประถมศึกษา ไม่ควรสูงเกินไป
    • ไม่ควรมีถังน้ำที่สูงเกินกว่าที่เด็กจะตักน้ำได้เพราะจะทำให้เด็กเล็กตกลงไปในถังน้ำและควรมีฝาปิดมิดชิดเพื่อป้องกันเด็กเล็กตักน้ำแล้วหัวทิ่ม
    • พื้นห้องน้ำไม่ควรทำจากวัสดุที่ลื่น เช่น กระเบื้องหินอ่อน
  2. พื้นต้องหมั่นถูหรือขัดให้สะอาดไม่ให้ตะไคร่จับ หรือดูแลไม่ให้มีน้ำท่วมขังเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กในการลื่นหกล้มในห้องน้ำ
  3. ควรมีแสงสว่างเพียงพอทางระบายอากาศให้ถ่ายเทได้สะดวกไม่มีน้ำขังบริเวณในห้องน้ำ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก
  4. ควรมีการแนะนำการใช้ห้องน้ำห้องส้วมให้ถูกต้องโดยเฉพาะในเด็กเล็ก
  5. ควรวางกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าไม่ให้เด็กไปห้องน้ำตามลำพัง ถ้าเป็นเด็กเล็กต้องมีผู้ใหญ่ไปกับเด็กด้วยเสมอเพราะหากเกิดอุบัติเหตุจะได้รู้และช่วยเหลือได้ทันท่วงที

บริเวณโดยรอบในโรงเรียน

  1. จัดบริเวณที่รับส่งเด็ก ที่จอดรถรับส่งนักเรียน ที่จอดรถของครูให้เป็นสัดส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเข้ามาวิ่งเล่นหรือหลบซ่อน
  2. บริเวณโดยรอบของโรงเรียนไม่ควรมีหลุม บ่อ เพราะอาจทำให้เด็กเดินตกหล่นลงไปได้ ถ้ามีควรรีบแก้ไขทันที เช่นหาฝาปิดให้สนิท หรือถมดิน
  3. ไม่ควรนำกระถางต้นไม้มาตั้งไว้บนกันสาดของตึกอาคารเพราะจะทำให้กระถางต้นไม้หล่นลงโดนเด็กนักเรียน
  4. มีที่กั้นที่สูงพอตรงบริเวณกันสาดของตึกหรือเพื่อกันเด็กปีนป่ายระเบียงอาคาร
  5. บริเวณรอบโรงเรียนหากมีลำคลองหรือแม่น้ำไหลผ่าน ควรมีรั้วรอบขอบชิด หากสร้างรั้วถาวรไม่ได้ควรทำขอบเขตที่แน่นอน เช่น สร้างรั้วลวดหนาม
  6. ประตูรั้วโรงเรียนต้องอยู่ในสภาพที่มั่นคงไม่ชำรุด หากชำรุดต้องรีบซ่อมแซมเพื่อป้องกันการหล่นทับเด็ก
  7. กรณีที่โรงเรียนตั้งอยู่ติดกับทางหลวง ควรมีเครื่องหมายที่ชัดเจน ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่รถยนต์
  8. หากโรงเรียนตั้งอยู่ในเขตที่มีการจราจรหนาแน่นหรืออยู่ใกล้เขตอันตรายควรจัดให้มีทางข้ามที่ปลอดภัยหรือมีเจ้าหน้าที่จราจรมาคอยดูแลให้
  9. ควรวางกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและให้นักเรียนรู้ถึงกฎเกณฑ์นั้น ๆ เช่นห้ามไม่ให้นักเรียนเล่นบริเวณทางเดินริมระเบียง
  10. ดูแลร้านค้าภายในและบริเวณรอบโรงเรียน ไม่ให้มีการจำหน่ายสินค้า ของเล่นหรืออาหารที่เป็นอันตรายหรือไม่มีประโยชน์ต่อเด็ก

ห้องเรียน และอาคารเรียน

1. สภาพโต๊ะเรียน เก้าอี้ ประตูควรอยู่ในสภาพที่มั่นคง แข็งแรงอยู่เสมอหากชำรุดจะต้องรีบแก้ไขทันที
2. หมั่นตรวจพัดลมที่ติดบนเพดานห้องเรียนอยู่เสมอ จะต้องอยู่ในสภาพที่มั่นคง ไม่หลวม รวมถึงโทรทัศน์ต้องยึดแน่นหากมีการชำรุดต้องรีบแก้ไขทันที
3. กระดานหรือบอร์ดต้องยึดติดผนังให้แน่นหนาป้องกันการหล่นทับ
4. บันไดทางเดินควรมีความมั่นคงไม่ชันเกินไปควรทำเครื่องหมายลูกศรแสดงการขึ้น การลงบันได
5. พื้นอาคารเรียนไม่ควรจะลื่นเกินไปเพื่อป้องกันการหกล้มลื่นไถล
6. ควรจัดให้มีอุปกรณ์ดับเพลิงตามอาคารต่าง ๆ

ห้องครัว – โรงอาหาร

1. แยกเป็นสัดส่วนให้ชัดเจนไม่ให้เด็กเข้าไปในห้องครัวได้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากน้ำร้อนลวก
2. การวางภาชนะใส่อาหารร้อน เช่น หม้อแกง ต้องวางในที่ปลอดจากเด็กเพื่อป้องกันอาหารหกรดใส่
3. ควรมีการวางกฎเกณฑ์การใช้ห้องครัวและโรงอาหารให้เด็กนักเรียนได้รับรู้กันทุกคน เช่น ห้ามวิ่งเล่นในบริเวณโรงครัว โรงอาหาร

ระบบไฟฟ้า

1. ปลั๊กไฟฟ้าได้แก่เต้ารับไฟควรอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ (ถ้ามีที่ฝาครอบปลั๊กไฟหรือมีชัตเตอร์เลื่อนเปิด-ปิดอัตโนมัติเมื่อเสียบหรือถอดปลั๊กจะดีมาก)
2. ขณะเสียบปลั๊กไฟต้องไม่หลวมถ้าหลวมควรรีบซ่อมแซม แก้ไข
3. จัดวางสายไฟต่าง ๆ ให้เหมาะสม สายไฟฟ้าควรอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ไม่ขาดหรือชำรุดและควรเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
4. สายไฟมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10 ปี ควรเปลี่ยนเมื่อครบกำหนดไม่ต้องรอให้สายไฟชำรุดเสียก่อน ถ้าไม่แน่ใจเรื่องการนับเวลาให้สังเกตฉนวนหุ้มสายไฟ หากมีสีเหลืองและเปราะก็ควรเปลี่ยน ส่วนปลั๊กไฟที่มีคราบเขม่าสีดำหรือชำรุดก็ควรเปลี่ยนเช่นกัน
5. อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้กำลังไฟฟ้ามากควรต่อสายดินหรือใช้ปลั๊กที่มี 3 รูเช่น เครื่องทำน้ำเย็น ตู้น้ำดื่มไฟฟ้าควรมีพื้นฉนวนรองรับป้องกันไฟฟ้ารั่ว
6. ควรติดตั้งเครื่องมือป้องกันไฟ เช่น เซฟทีคัท สะพานไฟ และถังดับเพลิงในสถานที่ที่เห็นง่าย ใช้สะดวก
7. เครื่องมือตัดไฟควรหมั่นตรวจการตัดไฟของเครื่อง และต้องไม่ปรับปุ่มตั้งค่ามิลลิแอมป์จนสูงเกินไป เพราะเครื่องจะตัดไฟต่อเมื่อมีกระแสไฟรั่วมากตามที่ตั้งค่าไว้
8. อุปกรณ์ไฟฟ้าควรอยู่ห่างจากมือเด็ก
9. ในการเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าให้สังเกตเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เป็นหลัก
10. ควรวางกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและให้นักเรียนรู้ถึงกฎเกณฑ์นั้น ๆ เช่น ห้ามไม่ให้นักเรียนยุ่งกับอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ถ้าพบว่าบริเวณต่าง ๆ ในโรงเรียนไม่ปลอดภัยต่อเด็กควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือเขียนเตือนตามจุดต่าง ๆ กรณีที่ไม่สามารถปรับแก้ได้ ทางโรงเรียนควรติดต่อการไฟฟ้านครหลวงเข้ามาตรวจสอบดูระบบไฟฟ้าในโรงเรียนปีละ 1 ครั้ง

2. จัดอุปกรณ์เสริมการเรียนให้มีความปลอดภัยต่อการนำไปใช้ โดยมีการตรวจสอบเครื่องมือ อุปกรณ์ให้พร้อมในการใช้งาน และไม่ก่อให้เกิดอันตรายจากความผิดปกติหรือความบกพร่องของอุปกรณ์นั้น

อุปกรณ์กีฬา

อุปกรณ์ทางกีฬาทุกชนิด เช่น ไม้แบดมินตันหรือไม้เทนนิส เสาประตูฟุตบอล แป้นบาสเก็ตบอลควรอยู่ในสภาพที่แข็งแรงมั่นคงไม่หัก หลุดหรือชำรุด
เครื่องมือทดลองทางวิทยาศาสตร์
1. การทดลองที่ต้องมีอุปกรณ์เชื้อเพลิง แรงอัด แรงดันหรืออุปกรณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อเด็กควรตรวจสภาพทุกครั้ง และหาแนวทางป้องกันและการแก้ไข หากเกิดกรณีบาดเจ็บเกิดขึ้น
2. น้ำยา สารเคมี สารทดลองต้องมีชื่อติดไว้ที่ข้างขวดหรือภาชนะบรรจุ
3. หมั่นตรวจตราอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ ก่อนใช้งาน หากชำรุดต้องรีบซ่อมแซมหรือแก้ไข หรือ เขียนติดไว้ว่าชำรุดห้ามนำมาใช้งาน
4. กรณีที่มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ควรจะมีการควบคุมดูแลเครื่องแต่งกายให้รัดกุม โดยเฉพาะสิ่งที่จะเป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น สร้อย แหวนทองแดง
5. ควรมีการตั้งกฎเกณฑ์การใช้เครื่องมือทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามเล่นหรือผลักกันขณะทำการทดลอง

เทคโนโลยีสารสนเทศ / อินเตอร์เน็ต

1. มีระบบดูแลการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีของนักเรียนเช่น ในโรงเรียนควรมีการติดตั้ง web guard เว็บต้องห้าม
2. มีการตั้งกฎเกณฑ์การใช้สื่อหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีระหว่างนักเรียนเช่น ห้ามนักเรียนแช็ต (chat) กันในขณะเรียน

3. การจัดกิจกรรมทางการศึกษาควรคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นหลัก โดยกิจกรรมที่นำมาประกอบการศึกษาควรจะเหมาะสมกับความสามารถตามพัฒนาการของเด็กข้อจำกัดทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ

และไม่รุนแรงเป็นอันตรายต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย

การจัดทัศนศึกษา

1. จัดระบบการดูแลเด็กทั้งขณะอยู่บนรถและหลังลงจากรถ
2. ตรวจสภาพรถเดินทางให้อยู่ในสภาพปกติ และตรวจสภาพคนขับรถให้อยู่ในสภาพขับขี่รถอย่างปลอดภัย
3. คุณครูควรทราบรายละเอียดเฉพาะตัวของเด็กนักเรียนทุกคนที่ร่วมเดินทาง เช่น โรคประจำตัว หรือข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ ของเด็ก

กิจกรรมในวิชาพละ

1. กิจกรรมควรคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กก่อนเป็นอันดับแรกไม่ควรมีความรุนแรงอันก่อให้เกิดอันตราย เช่น กีฬามวย
2. ถ้ามีการแข่งขันระหว่างกันควรคำนึงถึงความสามารถและพัฒนาการของเด็ก เช่น ไม่ควรให้เด็กโตแข่งกีฬากับเด็กเล็ก เป็นต้น
3. กิจกรรมกีฬาควรคำนึงถึงความเหมาะสมตามความสามารถและพัฒนาการของเด็ก

กิจกรรมในวิชาลูกเสือ

1. ไม่ควรเป็นกิจกรรมที่รุนแรง
2. ไม่ควรเป็นกิจกรรมที่อันตรายต่อความปลอดภัยเด็ก เช่น ให้ปิดตาขณะเดินลงน้ำ
3. กิจกรรมควรเหมาะสมกับความสามารถและพละกำลังของเด็กในแต่ละคน
4. การจัดกิจกรรมสำรวจความปลอดภัยในและรอบบริเวณโรงเรียนเป็นระยะๆ

วิธีการ

1. มีการจัดตั้งคณะทีมสำรวจความปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่งควรประกอบด้วยกลุ่มคุณครู กลุ่มผู้ปกครองและกลุ่มเด็กนักเรียนเพื่อทำหน้าที่ในการสำรวจความปลอดภัยทางด้านสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน สำรวจความปลอดภัยของอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน
2. มีการเดินสำรวจและบันทึกข้อมูลเพื่อค้นหาจุดเสี่ยงและจุดอันตรายทั้งในและนอกโรงเรียนโดยการสำรวจตามห้องเรียน ระเบียง บันได สนามกีฬา อุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน สำรวจการจัดระเบียบของวัตถุสิ่งของ ฯลฯ
3. มีการจดบันทึกรายงานอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในโรงเรียนจะทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุซึ่งจะช่วยค้นหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้
4. เมื่อได้ข้อมูลจากการเดินสำรวจเรียบร้อยแล้ว ควรมีการประชุมคณะทีมฯ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์และหาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหา
5. จัดให้มีการสรุปรายงานอุบัติเหตุและแจ้งข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นให้นักเรียนทุกคนทราบ

3. การจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างทักษะการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจาก

สิ่งแวดล้อม/อุบัติเหตุ/ภัยพิบัติ/โรคภัยไข้เจ็บ/สื่อ

1. โรงเรียนควรจัดให้มีการฝึกซ้อมในเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ คือ การฝึกการหนีไฟ กรณีไฟไหม้ การฝึกการปฏิบัติเมื่อเกิดน้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ
2. โรงเรียนควรสอนทักษะการข้ามถนน กฎจราจร การเดินทางทางน้ำทางบก ทางเท้า ฝึกหัดว่ายน้ำ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทักษะการขอความช่วยเหลือ
3. มีการสอนทักษะกฎแห่งความปลอดภัยในการใช้อินเตอร์เน็ต เช่น ห้ามให้ที่อยู่ของตนเองหรือนัดหมายแก่บุคคลที่อยู่ในห้องแช็ตรูม (chatroom) โดยที่เรายังไม่รู้จักเขาดี
4. สอนทักษะให้แก่เด็กในการเลือกอาหารหรือของเล่นที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก เช่น ไม่ให้เด็กกินอาหารขยะ เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมของเด็กที่มีสีสันฉูดฉาด การซื้อของเล่นที่เป็นอันตราย

1,276