การรังแกกันในโรงเรียนนั้นผู้ถูกรังแกจะได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตัวอย่าง การรังแกกันในโรงเรียน เช่น การชกต่อย , การข่มขู่รีดไถ , การรังแกกันด้วยคำพูด-วาจา อย่างการล้อเลียน การประชดประชัน,ใส่ร้ายป้ายสี และโดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่มีการเพิกเฉยไม่ให้เข้ากลุ่ม

การรังแกกันโรงเรียน หลายๆคนอาจมองข้าม และคิดว่ามันไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่ บ้างก็ว่าเป็นเพียงแค่การที่เด็กหยอกล้อเล่นกัน แต่ทราบหรือไม่ สิ่งเหล่านี้กลับสร้างแผลในใจให้ผู้ถูกรังแก ในขณะเดียวกันผู้รังแกอาจทวีความรุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไขเสียตั้งแต่เด็กๆ

จับสัญญาณเด็กถูกรับแก

ก่อนจะพูดเรื่องของการช่วยเหลือ ผู้ใหญ่จะต้องเรียนรู้การจับสัญญาณ เพื่อสังเกตพฤติกรรมว่าเด็กของเราถูกรังแกหรือไม่ เช่น

  • เด็กซึมเศร้า-หวาดกลัวอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • เด็กมีความก้าวร้าว
  • เด็กไม่อยากมาโรงเรียนหรือไม่ (ในกรณีที่เกิดขึ้นในโรงเรียน) อาการเหล่านี้จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ได้ว่าเด็กกำลังมีปัญห
  • ไม่ค่อยมีเพื่อน
  • ไม่อยากทานอาหาร
  • ผลการเรียนตกต่ำ

ทั้งนี้การรังแกกัน ต้องเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากผู้ที่มีอำนาจหรือกำลังมากกว่าผู้ถูกกระทำ กระทำซ้ำๆต่อเนื่อง หากเป็นพฤติกรรมที่ตอบโต้กันทั้งสองฝ่ายเราจะเรียกว่า การทะเลาะกัน

การช่วยเหลือ/แนวทางการแก้ไข

เมื่อทราบหรือสงสัยว่าเด็ก อาจถูกเพื่อนรังแกในโรงเรียน ผู้ใหญ่เริ่มต้นช่วยเหลือได้ดังนี้

  • พูดคุยกับเด็กอย่างเข้าใจ ใช้การตั้งคำถามปลายเปิด เช่น ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้างจ้ะ, พ่อแม่เป็นห่วงหนูนะ มีอะไรเล่าให้ฟังได้นะจ้ะ
  • สอบถามจากเพื่อนของเด็ก หากผู้ใหญ่รู้จักกับเพื่อนๆของเด็ก เช่น แม่เป็นห่วงเขามากเลย เธอพอรู้บ้างไหม เขาอยู่โรงเรียนเป็นยังไงบ้างจ้ะ
  • พูดคุยกับคุณครู โดยการเล่าความไม่สบายใจ ความเป็นห่วงของเราให้ครูรับทราบ เพื่อให้ครูช่วยสอดส่องเด็กของเราอีกทาง

สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำเมื่อรู้ว่าเด็กถูกรังแก

  • แสดงความเห็นอกเห็นใจ ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์สิ่งที่เด็กพูด แต่ให้ชื่นชมในความกล้าของเด็กที่เขากล้าเล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง
  • ไม่สนับสนุนให้เด็กใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ แต่ให้สอนวิธีการหลีกเลี่ยงจากผู้รังแก เช่น ไม่อยู่ลำพังคนเดียว เดินหนีหากเห็นว่าเขาจะเข้ามา ไม่สนใจ บอกตรง ๆ ว่าไม่ชอบ หากทำอีกจะบอกครู เป็นต้น
  • หมั่นเติมความมั่นใจให้กับเด็ก เมื่อรู้ว่าเด็กต้องเผชิญปัญหาต่างๆ เด็กคนนั้นอาจสูญเสียความมั่นใจ และเป็นเด็กที่ซึมเศร้า ดังนั้นผู้ใหญ่ควรพาเด็กออกไปหากิจกรรมทำ เช่น เล่นกีฬา ดนตรี เพื่อให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตนเอง

ทั้งครอบครัวและโรงเรียนควรประสานร่วมมือกันแก้ปัญหาการรังแกกันในโรงเรียน เพื่อให้เด็กใช้ชีวิตในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าหากการรังแกกันไม่ได้เกิดขึ้นในโรงเรียน หรือทางโรงเรียนมองว่าปัญหานั้นยากที่จะแก้ไขโดยลำพังแล้วนั้น ควรโทรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำปรึกษา เช่น มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก (โทร. 0-2412-1196, 0-2412-0739) , ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงประจำจังหวัด

ข้อมูลจาก: งานพัฒนาเด็กและครอบครัว มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและผู้จัดการออนไลน์

เมื่อเด็กถูกเพื่อนรังแกในโรงเรียน...ผู้ใหญ่จะช่วยเหลืออย่างไร?
193