โรงเรียนคุ้มครองเด็ก ตอน การส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในโรงเรียน1. มีการจัดความสัมพันธ์ในโรงเรียนในอันที่จะก่อให้เกิดการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณครูและเด็กนักเรียน

1.) คุณครูมีการปฏิบัติต่อเด็กในเชิงบวกโดยเน้นการสร้างเสริมคุณค่าในตัวเองให้แก่เด็กอย่างเหมาะสม โดย
• คุณครูควรเข้าใจในปัญหาพฤติกรรมเด็กและหาทางออกให้เด็กแก้ไขปัญหา พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมด้วยวิธีที่นุ่มนวลหรือวิธีทางบวก
ตัวอย่างการสร้างวินัยเชิงบวกแก่เด็กนักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่ให้ความร่วมมือกับครู
• ไม่ทำตามคำสั่งครูไม่ทำตามที่ขอร้อง ไม่สนใจฟัง ดื้อดึงต่อต้านไม่รับฟังคำสั่งของครู ฝืนคำแนะนำของครูพฤติกรรมเหล่านี้มีผลทำให้การเรียนการสอนไม่ราบรื่นและคุณครูเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้ามากขึ้นเมื่อสะสมนาน       ๆ อาจทำให้ครูหมดไฟในการทำงาน
• ก่อนถึงวิธีการจัดการครูควรทำความเข้าใจก่อนว่าทำไมนักเรียนถึงได้แสดงพฤติกรรมเหล่านั้น อันดับแรกคือ นักเรียนได้ทำตามใจตัวเอง ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ สอง หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่อยากทำ  สาม ต้องการ เอาชนะและช่วงชิงอำนาจหรือต้องการดึงดูดความสนใจ

วิธีการจัดการแก้ไขพฤติกรรม

เพื่อไม่ให้การเรียนการสอนหยุดชะงัก(ใช้ได้ตั้งแต่ระดับอนุบาล-ม.6จะต่างกันเพียงวิธีสื่อกับเด็กในระดับอายุต่างๆ)

• ครูดำเนินการสอนต่อไปเรื่อยๆพยายามอย่าให้การสอนหยุดชะงัก
• ออกคำสั่งที่ชัดเจนเพื่อดึงความสนใจของนักเรียนที่ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม ในลักษณะของการให้เกียรตินักเรียน
• ให้เวลานักเรียนคิด พิจารณาว่านักเรียนทำตามหรือไม่หากทำตามให้รางวัลกับนักเรียนทันที (กล่าว “ขอบคุณ”)
• หากนักเรียนไม่ทำตามคำสั่ง แก้ไขพฤติกรรมทันที โดยเสนอทางเลือกระหว่างการทำตามคำสั่งกับการต้องได้รับผลทางลบเล็กน้อย และให้เวลานักเรียนคิดว่าจะเลือกทางเลือกไหน และดำเนินการสอนต่อไปเรื่อย ๆ
หากครูใช้วิธีการนี้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย จะเห็นได้ว่านักเรียนมีความร่วมมือสูงขึ้นและจะช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและทำให้การเรียนการสอนราบรื่นขึ้น

ข้อสังเกต : ครูก็ต้องทำการสอนต่อไปเรื่อยๆโดยไม่หยุดชะงักซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากและให้ความสนใจกับนักเรียนที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมน้อยที่สุด

• คุณครูควรมีทักษะในการรับฟังเด็กและตอบสนองต่อเด็กอย่างเหมาะสม
• คุณครูควรมีทักษะในการจัดการเมื่อเด็กมีปัญหา เช่น ไม่ควรปฏิบัติต่อเด็กนักเรียนด้วยการเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น ๆ ไม่ควรมีการด่าว่าหรือประณามหากเด็กไม่สามารถตอบคำถามได้หรือทำการบ้านผิด ไม่ควรให้คำแนะนำแบบตำหนิซ้ำเติม หรือลงโทษอย่างรุนแรงเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี

2.) จัดให้มีกิจกรรมที่สร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณครูและเด็กนักเรียน

2. มีการจัดความสัมพันธ์ในโรงเรียนที่จะช่วยป้องกัน และ แก้ไขปัญหาการข่มเหงรังแกกันระหว่างเด็กกับเด็ก

การป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการข่มเหงรังแกกันระหว่างเด็กกับเด็ก

1. มีกิจกรรมที่สร้างเสริมความเห็นอกเห็นใจ ( empathy ) ระหว่างเด็กกับเด็ก
2. สร้างระบบในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันที่จะช่วยให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจ ( empathy ) ซึ่งกันและกัน เช่น ให้เด็กที่แข็งแกร่งเป็นคู่หูกับเด็กที่อ่อนแอ และให้เด็กที่แข็งแกร่งเป็นผู้ดูแลเด็กที่อ่อนแอกว่า โดยสลับ
สับเปลี่ยนทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน เป็นต้น
3. มีกิจกรรมที่สร้างเสริม Team spirit ระหว่างเด็กกับเด็ก เช่นกิจกรรมที่ให้เด็กได้ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน โดยคุณครูควรจะวางแผนการจัดกลุ่มอย่างรอบคอบเพื่อให้เด็กได้อยู่ในกลุ่มที่เหมาะสมและติดตามการทำกิจกรรมของกลุ่มโดยตลอด เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสมในกลุ่ม
4. มีกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์ในโรงเรียนเพื่อให้เกิดความเสียสละความสามัคคีกันในกลุ่ม
5. มีกิจกรรมที่เน้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง
6. มีกิจกรรมที่ให้เด็กได้แสดงความสามารถเฉพาะตัว (โดยสมัครใจ)
7. มีกิจกรรมที่กระตุ้นหรือส่งเสริมให้เด็กทำสิ่งที่ดี/สิ่งที่ชอบตามอิสระโดยอยู่ในกรอบที่คุณครูวางไว้อีกทั้งไม่ควรเน้นให้เด็กแข่งขันกัน
8. จัดระบบไม่ให้เด็กและเด็กอยู่ด้วยกันตามลำพังสองต่อสองในที่ลับตาคน โดยอาจให้มีบุคลากรในโรงเรียนอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในช่วงก่อนเข้าเรียนเวลาพัก และหลังเลิกเรียน

3. มีการจัดกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูและผู้ปกครอง

1. มีการสื่อสารกับผู้ปกครองเด็กอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการสื่อสารทางเดียวเช่น จดหมายข่าว จุลสาร ฯลฯ และการสื่อสารสองทาง เช่น การจัดกิจกรรมพบปะผู้ปกครองทั้งแบบกลุ่มใหญ่และแบบกลุ่มย่อย
2. มีการดึงให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม หรือการสร้างระบบความปลอดภัยในโรงเรียน เช่นเชิญให้ผู้ปกครองเข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมวางแผนการจัดระบบความปลอดภัยในโรงเรียน

4. มีการจัดกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเด็กและผู้ปกครอง

1. มีการจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเสริมสร้างทักษะเรื่องการเลี้ยงดูลูกให้แก่ผู้ปกครองในอันที่จะช่วยเอื้อต่อการสร้างเสริมคุณค่าในตัวเด็ก เช่น การอบรมให้ความรู้ กิจกรรมห้องเรียนพ่อแม่ กิจกรรมกลุ่มพ่อแม่ช่วยเหลือกัน ( self-help group )
2. จัดให้มีกิจกรรมครอบครัวเป็นระยะ ๆ เช่น กิจกรรมครอบครัวสัมพันธ์ (กิจกรรมที่สร้างการสื่อสารทางบวกในครอบครัว ) กิจกรรมค่ายครอบครัว

25