“โรงเรียน” ถือเป็นสังคมหนึ่งที่เด็กนักเรียนใช้ชีวิตและเวลาส่วนใหญ่คลุกคลีอยู่ในโรงเรียนและเป็นสังคมที่พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนให้การยอมรับ นับถือยกย่องและคาดหวังว่าเด็กจะได้รับความรู้ การอบรมสั่งสอน ได้รับการพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกาย จิตใจ และได้รับการปกป้อง คุ้มครองทางด้านร่างกาย จิตใจและทรัพย์สินจากครู ซึ่งเป็นบทบาทหนึ่งที่นอกเหนือจากการทำหน้าที่อบรมสั่งสอนเพียงอย่างเดียว
ดังนั้นโรงเรียนจึงต้องเป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัยสำหรับเด็กทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ครูปฏิบัติต่อเด็กอย่างเหมาะสม ดูแลเด็กด้วยการเอาใจใส่ ปกป้องคุ้มครองเด็กนักเรียนราวกับว่าเด็กนักเรียนนั้นเป็นลูกเป็นหลานของตนเอง
องค์ประกอบที่สำคัญของการสร้างความปลอดภัยในโรงเรียน ควรประกอบด้วย 4 ด้าน ดังนี้
1.การคุ้มครองและช่วยเหลือเด็ก
หมายถึง ระบบ และ การดำเนินงาน ในการดูแล ตรวจตรา/เฝ้าระวัง ช่วยเหลือ และคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัยจากอันตรายด้านบุคคล โดยเด็กที่ควรได้รับการช่วยเหลือและคุ้มครอง ได้แก่ เด็กที่เสี่ยงจะได้รับอันตราย เด็กที่มีปัญหาด้านสติปัญญา เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสม เด็กที่มีโรคทางสมอง ( สมาธิสั้น มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ออทิสติก ) เด็กที่มีความพิการทางร่างกาย เด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์จิตใจ เด็กที่ขาดทักษะสังคมเด็กที่มีปัญหาครอบครัว รวมถึงเด็กที่ถูกทำร้ายรังแกจากผู้ใหญ่และจากเด็ก
ด้วยกัน
2.การป้องกันภัยจากสิ่งแวดล้อม/อุบัติเหตุ/ภัยพิบัติ/โรคภัยไข้เจ็บ/สื่อ
หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมและการวางกฎเกณฑ์ให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บที่คาดไม่ถึง รวมไปถึงโรคภัยไข้เจ็บและภัยจากสื่อต่าง ๆ เช่น การสร้างและจัดวางสนามเด็กเล่นที่ปลอดภัย การวางระบบไฟฟ้าและมาตรการตรวจตราระบบไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ การติดตั้งระบบความปลอดภัยจากการใช้อินเทอร์เน็ต ฯลฯ นอกจากนี้ยังหมายความรวมไปถึงเรื่องกิจกรรมการดำเนินงานที่จะส่งเสริมความปลอดภัย เช่น กิจกรรมเดินสำรวจจุดเสี่ยง กิจกรรมซ้อมหนีไฟ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ฯลฯ
3.การป้องกันอันตรายจากบุคคล
หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมและการวางกฎเกณฑ์ให้ปลอดภัยจากบุคคล โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของเด็ก ตั้งแต่เริ่มเดินเข้าสู่ประตูโรงเรียนจนกระทั่งออกจากโรงเรียนถึงบ้าน รวมทั้งการจัดกิจกรรมเสริมทักษะการดูแลป้องกันภัยตัวเองให้ปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีผู้ใหญ่ทำร้ายเด็กและเด็กทำร้ายกันเอง
4.การสร้างความสัมพันธ์อันดีในโรงเรียน
หมายถึง การสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดี ในโรงเรียนทั้งระหว่างเด็กกับเด็ก และครูกับเด็ก โดยเน้นให้เด็กมีความรู้สึกดีในการใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียนเช่น ได้รู้สึกถึงการได้รับการยอมรับทั้งจากครูและจากเพื่อนด้วยกัน นอกจากนี้ยังรวมถึงการทำให้โรงเรียนกับครอบครัวได้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในอันที่จะร่วมกันพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพต่อไป