ปกป้องเด็กจากความรุนแรง ในช่วงโควิด19 ระบาด
1.พ่อแม่ต้องสตรอง!
พ่อแม่ต้องดูแลตัวเองให้แข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพื่อฟันฝ่าวิกฤติในครั้งนี้ รวมทั้งมีทักษะที่ดีในการจัดการปัญหา การจัดการอารมณ์ การดูแลเด็กๆในชีวิตประจำวัน การสื่อสาร เพื่อลดความตึงเครียด และไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงภายในบ้านที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเด็ก
2.สร้างสัมพันธ์กับลูก
การที่โรงเรียนปิด ที่ทำงานหยุด หรือพ่อแม่ทำงานจากที่บ้าน ถือเป็นโอกาสดีที่พ่อแม่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ใช้ชีวิตครอบครัวร่วมกัน เล่น สนุก ทำให้ลูกรู้สึกรักและมั่นคง และเห็นว่าพวกเขามีความสำคัญ เช่น จัดสรรเวลาให้กับลูกแต่ละคนอย่างน้อย 20 นาทีหรือมากกว่านั้น ถามถึงสิ่งที่พวกเขาอยากทำ ปิดมือถือและทีวี ทำกิจกรรมร่วมกับลูก ฟังลูก และสนุกกับลูก
3.ใช้วิธีการเชิงบวกดูแลลูก
บางครั้งการห้ามให้ลูกหยุดทำบางสิ่งบางอย่างที่พวกเขากำลังเล่นอย่างสนุกและยากที่จะหยุด อาจจะไม่ได้รับความร่วมมือ พ่อแม่ควรใช้วิธีการเชิงบวกกับลูก เช่น
- บอกถึงพฤติกรรมที่พ่อแม่อยากจะเห็นหรือให้ลูกทำ ด้วยคำพูดเชิงบวกแทนการตะคอกใส่
- เรียกชื่อลูก และบอกให้ลูกทำสิ่งนั้นด้วยน้ำเสียงที่สงบ แทนการตะโกนใส่ลูก เพราะการตะโกนจะทำให้ลูกและพ่อแม่เกิดความเครียด
- ให้คำชื่นชม ยกย่องลูกถึงบางสิ่งบางอย่างที่ลูกทำได้ดีมาก ลูกจะชอบมากเพราะนั่นแสดงว่าพ่อแม่สนใจและสังเกตพวกเขาอยู่
4.ปรับกิจวัตรประจำวันใหม่ให้ตรงกัน
ผลกระทบจากโรงเรียนปิด พ่อแม่ต้องทำงานอยู่บ้าน ทำให้กิจวัตรประจำวันของเด็กๆและพ่อแม่ไม่เหมือนเดิม พ่อแม่ลองชวนลูกๆ มาจัดตารางกิจวัตรประจำวันใหม่ทั้งของพ่อแม่และลูก เช่น ให้มีช่วงเวลาสำหรับทุกคนในครอบครัวได้ทำกิจกรรมด้วยกัน มีการออกกำลังกายทุกวัน เพื่อปลดปล่อยพลังงานของเด็กและลดความตึงเครียด มีการสอนเรื่องการเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย ให้เด็กดูแลสุขอนามัยของตนเอง ล้างมือด้วยสบู่อย่างน้อย20วินาที สุดท้ายในแต่ละวันชวนเด็กๆพูดคุยถึงสิ่งที่เด็กๆคิดว่าทำได้ดี และมีรางวัลมอบให้ เช่น สติ๊กเกอร์ดาว สิ่งสำคัญพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กในเรื่องการดูแลตัวเองให้ปลอดภัย และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ
5.รับมือกับพฤติกรรมไม่เหมาะสมของลูก
เป็นเรื่องปกติที่เด็กอาจมีช่วงเวลาที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เมื่อเขารู้สึกเหนื่อย หิว ง่วง หรืออ่อนล้าจากการเล่น ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่รู้สึกหงุดหงิด โมโหได้เมื่อต้องอยู่ที่บ้านกับลูกตลอดเวลา หากพ่อแม่ไม่สามารถระงับอารมณ์ตนเองได้อาจกระทำความรุนแรงกับเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ พ่อแม่สามารถรับมือได้ ด้วยวิธี
-สังเกตพฤติกรรมลูก เมื่อเห็นว่าลูกเริ่มมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ให้เข้าไปหันเหหรือเบี่ยงเบนพาลูกทำกิจกรรมอย่างอื่นที่สนุกกว่า หรือ ออกมาเดินนอกบ้าน
-หยุดตัวเองชั่วคราว เมื่อพ่อแม่รู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีอารมณ์โกรธ หรือโมโห ให้หยุดตัวเอง 10 วินาที แล้วหายใจเข้าออกช้าๆ 5-10 ครั้ง แล้วค่อยพยายามจัดการพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูกด้วยอาการที่สงบ
-สร้างข้อตกลงร่วมกันกับลูก พ่อแม่ควรมีการทำข้อตกลงร่วมกันกับลูกถึงพฤติกรรมหรือสิ่งที่ลูกทำ หากลูกสามารถทำได้ตามข้อตกลงจะได้รับรางวัล
-การให้เวลากับลูก ชื่นชมลูก ใช้วิธีการเชิงบวก จะช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูกได้
6.จัดการกับความเครียดอย่างถูกวิธี
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่พ่อแม่อาจมีความเครียด พ่อแม่ต้องดูแลตัวเอง เพื่อที่จะสามารถดูแลลูกๆของตนเองได้ หากพ่อแม่รู้สึกเครียด ลองจัดการความเครียดด้วยวิธีการเหล่านี้
–คุณไม่ได้ตัวคนเดียว ยังมีผู้คนนับล้าน ที่เผชิญกับความวิตกกังวล ความกลัว เช่นเดียวกับเรา หาคนที่คุณสามารถพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกของคุณ เล่าให้เขาฟัง และหลีกเลี่ยงโซเชียลมีเดียที่ทำให้คุณรู้สึกตื่นตระหนก-หยุดพักบ้าง เมื่อรู้สึกเครียด พ่อแม่ควรหาอะไรที่ทำแล้วรู้สึกมีความสุขและผ่อนคลาย เช่น ออกกำลังกาย กินของว่าง อ่านหนังสือ นอนเอนหลังสัก10 นาที เดินเล่นในสวน ปลูกต้นไม้ หรือนั่งสมาธิ รับรู้ลมหายใจ -ฟังเสียงของลูก เปิดกว้างรับฟังความรู้สึกของลูก ยอมรับความรู้สึกของลูกและช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย การรับฟังความรู้สึกของลูกอย่างตั้งใจ จะช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลูกมากขึ้น ลดความขัดแย้งและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น
7.ชวนลูกคุย ฟังลูกเล่าเรื่องโควิด
พ่อแม่ควรชวนเด็กๆพูดคุยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคที่เกิดขึ้น ด้วยวิธีสบายๆ ไม่เคร่งเครียด เช่น เล่าเรื่อง วาดรูป (ขึ้นอยู่กับช่วงวัยของเด็ก) เพื่อจะได้รู้ว่า เด็กๆรู้สึกอย่างไร เขามีความเครียด ความกังวล มากเพียงใด รับฟังลูกอย่างเข้าใจ และควรช่วยแนะนำให้ลูกจัดการกับความรู้สึกเครียด กังวล อย่างเหมาะสม
8.ความรุนแรงที่แฝงมากับสื่อออนไลน์
หากพ่อแม่ไม่มีกิจกรรมให้ลูกทำ ก็หนีไม่พ้นที่เด็กๆจะอยู่หน้าจอ เข้าสู่โลกออนไลน์อย่างแน่นอน พ่อแม่ควรมีข้อตกลงร่วมกับลูกในการเข้าใช้อินเตอร์เน็ต ประเภทเว็บหรือเกมที่เด็กสามารถดูหรือเล่นได้ งดไม่ให้เด็กดูหรือเล่นเกมที่มีความรุนแรง ช่วงเวลาที่ใช้งานควรกำหนดร่วมกันโดยดูช่วงอายุของเด็กประกอบด้วย ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ควรงดอยู่หน้าจอทุกกรณี การโพสต์หรือแชร์ข้อมูลต่างๆ ควรฝึกให้เด็กคิดวิเคราะห์ แยกแยะข่าวสารว่าอันไหนจริงหรือปลอม รวมถึงไม่โพสต์ ข้อความ รูป หรือคลิปวีดีโอที่เป็นการระรานผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นเสียหาย และนำมาซึ่งภัยอันตรายสำหรับตัวเอง
ที่มา : ข้อมูลบางส่วนจาก https://www.end-violence.org/protecting-children-during-covid-19-outbreak#children