การเลี้ยงดูปลูกฝังของพ่อแม่ เป็นปัจจัยหนึ่งที่บอกได้ว่า เด็กคนหนึ่งจะมีสุขภาพจิตที่ดี เติบโตเป็นคนที่รับมือกับสถานการณ์ในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปได้ มีจิตใจที่เข้มแข็งและมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีร้ายในชีวิต
พ่อแม่ควรทำอย่างไร? เพื่อให้เด็กๆของเรา มีสุขภาพจิตที่ดี
- พ่อแม่ควรดูแลสุขภาพจิตของตัวเองให้ดีก่อน เพราะถ้าพ่อแม่มีความเครียด ปัญหาสุขภาพจิต เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ก็จะส่งผลต่อการเลี้ยงดูลูกได้ และพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะละเลยตรงนี้
- ให้ความรัก มีเวลาให้ลูก พูดคุยกับลูก เล่น เล่านิทาน ทำกิจกรรมกับลูกบ่อยๆ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี
- ฟังลูกมากๆ เวลาลูกอยากเล่าอะไรให้ฟัง ถ้าพ่อแม่ฟังลูก ลูกจะฟังพ่อแม่มากขึ้น และอยากเล่าอยากระบายสิ่งต่างๆ ให้พ่อแม่ฟัง
- เด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบไม่ควรดูหน้าจอทุกชนิด (มือถือ,แท็บเล็ต,ทีวี,คอมพิวเตอร์ฯลฯ) และอย่าปล่อยให้ลูกติดหน้าจอเกินไป ให้ทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง เด็กและวัยรุ่นยุคนี้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้หน้าจอมากเกินไป สำคัญคือพ่อแม่ต้องไม่ติดจอด้วย เป็นตัวอย่างที่ดี และควรดูไปพร้อมกับเด็ก เพื่อแนะนำและมีความเข้าใจกันมากขึ้น
- สอนให้ลูกมีระเบียบวินัย ไม่ตามใจเกินไป ให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเอง รู้จักอดทนรอคอย
- สอนให้รู้จักช่วยเหลือตัวเองตามวัย อย่าทำอะไรให้ทุกอย่าง จนลูกติดสบายเกินไป
- ปฏิบัติกับลูกบนพื้นฐานของความรักและเข้าใจ มีเมตตาและเอาใจลูกมาใส่ใจเรา ลูกจะรู้สึกมีความมั่นคงปลอดภัย ทางจิตใจ
- เข้าใจพัฒนาการเด็กพื้นฐาน รู้ว่าเด็กวัยนี้ควรทำอะไรได้หรือยังทำไม่ได้ ไม่เร่งรัดเด็กเกินไปจนเป็นความกดดันและทำให้เกิดความเครียดโดยที่ไม่ตั้งใจ
- ไม่ต้องเปรียบเทียบลูกของเรากับลูกคนอื่น ยอมรับในตัวตนที่ลูกเป็น ทุกคนมีความแตกต่างมีเอกลักษณ์ มีข้อดีข้อเสีย เป็นปกติมนุษย์ ไม่ได้หมายความว่าใครดีกว่าหรือแย่กว่า จะทำให้ลูกเข้าใจและยอมรับในตัวตน มองเห็นคุณค่าในตัวเอง เติบโตเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองได้
- ชมเชยเมื่อเห็นว่าลูกทำได้ดี เน้นชมเชยที่กระบวนการ เช่น ความพยายาม ความตั้งใจ ไม่ต้องเน้นผลลัพธ์
- ถ้าลูกทำไม่ถูก ควรให้ลูกเรียนรู้การรับผิดชอบ มีการปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม แต่ไม่ควรลงโทษด้วยความรุนแรง ให้ลูกรู้ว่าทำผิดก็ต้องปรับปรุงตัวแก้ไข ทุกคนก็ทำผิดได้ และมีโอกาสที่จะทำให้ดีขึ้น
- สอนให้ลูกมีทักษะจัดการอารมณ์ที่ดี รู้จักผ่อนคลายความเครียด เวลามีอารมณ์ทางลบ เช่น โกรธ เสียใจ ก็เข้าใจตระหนักอารมณ์ตัวเอง โกรธได้ เสียใจได้ แต่ไม่ทำอะไรไปตามอารมณ์จนเกิดผลเสียต่อตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งตรงนี้พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นด้วย
เด็กๆ จะเติบโตเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี แม้ว่าจะมีอุปสรรค หรือสถานการณ์ไม่ปกติ อาจจะรู้สึกแย่บ้าง แต่น่าจะฟันฝ่าไปได้ในที่สุด
ขอบคุณข้อมูล #เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา #หมอมินบานเย็น
อินโฟกราฟิกโดย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก