ราชบัณฑิตสภา ให้คำนิยาม Cyber Bullying ว่าคือ “การระรานทางไซเบอร์” หมายถึง การกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เป็นต้น โดยต้องการให้บุคคลนั้นเกิดความรู้สึกไม่พอใจหรือเจ็บปวดทางด้านอารมณ์จิตใจ ดังนี้ อับอาย หวาดกลัว หวาดระแวง รู้สึกโดดเดี่ยว เศร้าหมอง ท้อแท้ สิ้นหวัง ไร้ค่า บางคนนอนไม่หลับ อ่อนเพลียเรื้อรัง เจ็บป่วย ทำร้ายตนเอง และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต
รูปแบบของ Cyberbullying ที่พบบ่อยๆในกลุ่ม และในสังคม ได้แก่
- ส่งข้อความนินทาเพื่อน กุข่าวโคมลอย เพื่อให้เกิดกระแสพูดต่อๆ กันไป ทาให้เพื่อนเสียหาย
- ไล่บางคนออกจากกลุ่มออนไลน์ เช่น กลุ่มไลน์ หรือ กลุ่มเฟซบุ๊ก เป็นต้น
- การแอบเข้าใน log in ของคนอื่นและโพสต์ข้อความให้เจ้าของ account ดูไม่ดีในสายตาคนอื่น หรือได้รับความเสียหาย
- การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น ซึ่งมักเกิดขึ้นจากการที่มีผู้อื่นรู้รหัสผ่านของบัญชีการใช้งานโซเชียลมีเดีย แล้วถูกสวมรอยแอบใช้งานแทน เพื่อโพสต์ข้อความหยาบคาย ให้ร้ายบุคคลอื่น โพสต์รูปโป๊ คลิปวิดีโอลามก หรือสร้างความเสียหายในรูปแบบอื่น ทำให้เจ้าของ Account ดูไม่ดีในสายตาคนอื่น หรือได้รับความเสียหาย
- แฉด้วยคลิป ไม่ว่าจะเป็นคลิปอนาจาร หรือคลิปที่บุคคลนั้นถูกรุมทำร้าย เพื่อให้รู้สึกอับอาย หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์
- คิดว่าเป็นเรื่องตลก ก็เลยแชร์เพื่อสร้างรอยยิ้มให้คนหมู่มาก ทั้งๆที่เขาอาจจะอยากโพสต์เป็นการส่วนตัวของตนเองเท่านั้น
- เห็นการกลั่นแกล้ง รังแกกันบนโลกออนไลน์แล้วเข้าไปร่วม
- การแบล็กเมล์ ด้วยการนำความลับหรือภาพลับมาเปิดเผย เพื่อให้เกิดการแชร์ต่อไปอย่างกว้างขวาง บางครั้งก็ยังเป็นการคุกคามทางเพศ ถ่ายภาพโป๊เปลือยหรือใช้เป็นเครื่องมือต่อรองเรียกรับผลประโยชน์ หรือค่าไถ่
- การหลอกลวง มีทั้งการหลอกลวงให้หลงเชื่อ ให้ออกมาตามนัดเพื่อกระทำมิดีมิร้าย หรือลวงเอาเงิน-ทรัพย์สิน
- คอมเม้นต์ด้วยถ้อยคำดูหมิ่น หยาบคาย ตอกย้ำปมด้อย ทำให้ผู้โพสต์อับอายเสียหาย (ปั่นเรื่องเท็จให้เป็นเรื่องจริง หรือใช้คำพูดไม่สุภาพต่อผู้โพสต์อย่างเห็นได้ชัด)
- แชร์ต่ออย่างไม่หยุดยั้ง โดยไม่สืบหาต้นตอว่าเป็นความจริงหรือไม่ ทั้งการแชร์ข้อความ รูป วิดีโอ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย รู้สึกอับอายบนอินเทอร์เน็ต
- การสร้างกลุ่มในโซเชียลเพื่อโจมตีโดยเฉพาะ เรียกว่า 'เพจแอนตี้' มักจับผิดทุกประเด็นเพื่อสร้างความเสียหายต่อคนที่ไม่ชอบ และอาจมีการโน้มน้าวให้คนอื่นรู้สึกรังเกียจไปด้วย บางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นไล่ให้ไปฆ่าตัวตาย
เด็ก ๆ จะรับมือ Cyberbullying อย่างไร?
- STOP หยุดระรานกลับด้วยวิธีการเดียวกัน หยุดตอบโต้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำหรือเพิ่มความรุนแรงของเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น
- BLOCK ปิดกั้นผู้ที่ระราน ไม่ให้เขาสามารถติดต่อ โพสต์ หรือระรานเราได้อีก
- TELL บอกพ่อแม่ ครู หรือบุคคลที่ไว้ใจ เพื่อขอความช่วยเหลือ หากเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือถูกข่มขู่คุกคาม ให้เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้กระทำและเหตุการณ์ระรานรังแกไปแจ้งเจ้าหน้าที่
- REMOVE ลบภาพหรือข้อความระรานรังแกออกทันที โดยอาจติดต่อผู้ดูแลระบบหากเป็นพื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์
- BE STRONG เข้มแข็ง อดทน ยิ้มสู้ อย่าไปให้คุณค่ากับคนหรือคำพูดที่ทำร้ายเรา ควรใช้เป็นแรงผลักดันให้เราดีขึ้น ก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ
ข้อมูล : คู่มือกิจกรรมการป้องกันการรังแกกันในโรงเรียน มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
อินโฟกราฟิกโดย : มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก