ปัญหาการรังแกกันของเด็กๆ ผู้ใหญ่อาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆแค่เล่น หรือหยอกกัน แต่สำหรับเด็กถือเป็นเรื่องใหญ่ที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ให้ช่วยจัดการปัญหาอย่างทันท่วงทีและยุติปัญหาอย่างถาวร สำหรับพ่อแม่ที่รู้ว่าลูกของตนถูกเพื่อนรังแก จะทำอย่างไรที่จะช่วยลูกของตนได้ อินโฟกราฟิกชุดนี้มีคำแนะนำดีๆที่จะทำให้พ่อแม่ช่วยลูกได้..
การรังแกมีหลายแบบและทำซ้ำๆต่อเนื่อง
การรังแก มีหลายรูปแบบ เช่น การชกต่อย ทำร้ายร่างกาย (การรังแกทางกาย) การแซวหรือล้อเลียน (การรังแกทางวาจา) การข่มขู่หรือบังคับ หรือการกีดกันไม่ให้เข้าร่วมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ กับเพื่อน (การรังแกทางจิตใจ) และการส่งข้อความข่มขู่ หรือล้อเลียนทางโทรศัพท์หรือทางคอมพิวเตอร์โดยใช้อีเมล์ (การรังแกทางอินเตอร์เน็ต) โดยปกติแล้วการรังแกจะกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน บางครั้งอาจติดต่อกันนานถึงสองสามปี
สัญญาณเตือนภัย
สัญญาณซึ่งอาจบ่งบอกถึงการถูกรังแก มีดังต่อไปนี้
- ลูกกลับมาจากโรงเรียนโดยเสื้อผ้า สมุดหนังสือหรือข้าวของฉีกขาด ชำรุด หรือสูญหายเป็นบางส่วน
- ร่างกายมีรอยบาดแผล ฟกช้ำ หรือถลอกที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน
- มีเพื่อนน้อย หรือไม่มีเลย
- มีอาการกลัวการไปโรงเรียน กลัวการเดินไป-กลับโรงเรียน การขึ้นรถรับส่งนักเรียน หรือการเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ (เช่น ชมรมต่างๆ)
- ไป-กลับโรงเรียนโดยใช้ทางอ้อม ซึ่งดูแล้วไม่มีเหตุผลสมควร
- ไม่สนใจทำการบ้านและผลการเรียนตกต่ำอย่างกะทันหัน
- มีท่าทางเศร้า หงุดหงิดง่าย น้ำตาคลอ หรือหดหู่ หลังกลับมาจากโรงเรียน
- บ่นว่าปวดหัว ปวดท้อง หรือมีความเจ็บป่วยด้านอื่นอยู่บ่อยๆ
- มีปัญหานอนไม่หลับ หรือฝันร้ายบ่อยๆ
- ไม่เจริญอาหาร
- มีท่าทางกังวลหรือน้อยเนื้อต่ำใจ
ผลของการถูกรังแก
การรังแกอาจก่อให้เกิดผลภายหลังที่ร้ายแรง เด็กที่ถูกรังแกอาจมีลักษณะดังต่อไปนี้มากกว่าเด็กคนอื่น
- หดหู่ เหงา กังวลใจ
- น้อยเนื้อต่ำใจ รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
- ขาดเรียน ผลการเรียนตกต่ำ
- รู้สึกไม่สบายทางร่างกาย
- มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
หากลูกถูกรังแก พ่อแม่จะทำอย่างไร?
1.ให้ความสนใจดูแลลูกของท่านเป็นพิเศษ ให้กำลังใจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการรังแกกันที่เกิดขึ้น
-อย่าตำหนิหรือกล่าวโทษลูกที่ถูกรังแก อย่าสันนิษฐานว่าลูกของท่านอาจไปทำอะไรให้อีกฝ่ายหนึ่งก่อนที่เป็นการยั่วยุให้เขามารังแกเอา ('ลูกไปทำอะไรเขาก่อนหรือเปล่า เขาถึงได้รังแกลูก?)
-ฟังรายละเอียดจากลูกของท่านว่า การรังแกนั้นเกิดขึ้นอย่างไร ซักถามหรือขอให้ลูกเล่าว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง และการรังแกแต่ละครั้งมีพฤติกรรมอะไรเกี่ยวข้อง
-แสดงความเห็นอกเห็นใจลูก บอกเขาว่าการรังแกเป็นสิ่งที่ผิดและท่านดีใจที่เขากล้าเล่าให้ท่านฟัง ถามความเห็นเขาว่าควรดำเนินการอย่างไรจึงจะช่วยได้ ให้คำมั่นเขาว่าท่านจะคิดดูให้ดี ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร และจะบอกเขาทุกครั้งก่อนที่ท่านจะทำอะไรต่อไป
-อย่าสนับสนุนการตอบโต้ทางกาย ('ใส่มันสักหมัดเลยสิ') เพื่อเป็นทางออก การชกต่อยนักเรียนคนอื่นมักจะไม่ทำให้ปัญหายุติลงและอาจทำให้ลูกของท่านถูกพักการเรียนหรือไล่ออกได้ และตามปกติคนที่มารังแกลูกนั้น มักจะโตกว่าหรือแข็งแรงกว่า และลูกท่านสู้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไม่อย่างนั้นก็คงไม่ถูกรังแก
2.ติดต่อครูหรือครูใหญ่ของลูกท่าน
-พยายามควบคุมอารมณ์ แล้วให้เฉพาะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถูกรังแกของลูกท่าน ใคร อะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน และอย่างไร
-ย้ำความตั้งใจ ว่าท่านต้องการร่วมมือกับบุคลากรของโรงเรียนหาทางออกเพื่อยุติการรังแกกัน ทั้งเพื่อลูกของท่านและเด็กคนอื่นๆ
-อย่าติดต่อกับผู้ปกครองของนักเรียนผู้ลงมือรังแกลูกของท่านก่อน การกระทำเช่นนี้มักเป็นการโต้ตอบอันดับแรกของผู้ปกครอง แต่บางครั้งมันอาจทำให้เหตุการณ์รุนแรงกว่าเดิม บุคลากรของโรงเรียนควรเป็นผู้ติดต่อไปทางผู้ปกครองของนักเรียนผู้ลงมือรังแก
-มีความคาดหวังให้การรังแกยุติลงเสมอ พูดคุยกับลูกและบุคลากรของโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามดูว่าการรังแกได้หยุดลงหรือไม่ หากยังไม่ยุติ ติดต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ในโรงเรียนอีกที
3.ช่วยลูกของท่านให้มีการปรับตัวรับมือกับการถูกรังแกจากผู้อื่น
-ช่วยพัฒนาความสามารถพิเศษหรือพรสวรรค์ที่เขามีอยู่ให้เต็มที่ การทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจมากขึ้น เมื่ออยู่ท่ามกลางหมู่เพื่อน (เพราะคนที่มั่นใจในตนเอง จะมีท่าทางที่ทำให้คนอื่นๆไม่อยากหรือไม่กล้ารังแก)
-สนับสนุนให้ลูกติดต่อคบหากับเพื่อนนักเรียนที่เป็นมิตรในห้องเรียน ครูของลูกอาจแนะนำได้ว่านักเรียนคนไหนน่าคบเป็นเพื่อน น่าใช้เวลาด้วยหรือทำงานร่วมด้วย
-สอนวิธีการสร้างความปลอดภัยให้ลูกของท่าน สอนให้เขารู้วิธีขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เมื่อเขารู้สึกว่าถูกคุกคาม พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับบุคคลที่เขาสามารถขอความช่วยเหลือได้และซ้อมบทสนทนาว่าควรพูดอย่างไร ยืนยันกับลูกของท่านว่า การแจ้งเหตุรังแกกันนั้นไม่เหมือนกับการ 'ขี้ฟ้อง'
-หัวใจสำคัญคือบ้าน โปรดทำให้แน่ใจว่าลูกของท่านได้รับบรรยากาศในบ้านที่เปี่ยมด้วยความรักและความปลอดภัย ซึ่งสามารถเป็นที่หลบภัยของเขาได้ทั้งทางกายและใจ สื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ
ขอบคุณข้อมูลจาก : คู่มือรับสถานการณ์เด็กรังแกกันในโรงเรียน สำหรับพ่อแม่ที่ลูกถูกรังแก : ลูกฉันถูกรังแก ทำอย่างไรดี ผู้เรียบเรียง ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ผู้จัดทำ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(มสช.)