เลี้ยงลูกอยู่ดีมีสุข
ตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำในการเลี้ยงดูเด็ก (2)
เป้าหมายการคุ้มครองเด็ก คือ การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใดให้คํานึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสําคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และกําหนดบทบาทหน้าที่ ผู้ปกครองให้การอุปการะเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนและพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น ตลอดจนต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ นอกจากนี้ยัง สอดคล้องกับแนวคิดการคุ้มครองเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก คือ การให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อม ของครอบครัวที่ได้รับการเลี้ยงดู คุ้มครองและพัฒนาที่เหมาะสม
เพื่อจุดมุ่งหมายที่สําคัญคือ การให้เด็กได้เจริญเติบโตสมบูรณ์ ทั้งทางร่างกายและจิตใจให้เขาสามารถช่วยเหลือตนเองสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ด้านศักยภาพและการปฏิบัติของผู้ปกครองเด็ก
- กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้และการฝึกวินัย ในเรื่องเกี่ยวกับตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม และเรื่องจริยธรรมของเด็กโดยสร้างเงื่อนไขควบคุมจากภายนอก และสร้างความสามารถควบคุมจากภายใน เช่น สอนให้เด็กรู้จักชื่อ นามสกุล อายุ เชื้อชาติ ของตนเองและคนในครอบครัว มีวิธีการดูแลให้เหมาะสมกับเพศของเด็ก สนับสนุนและส่งเสริมในกิจกรรมที่เหมาะสมตามความสามารถและความสนใจของเด็ก ให้เด็กดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน ให้เด็กจัดสรรเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ ของตนเอง ให้เด็กไปโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ กระตุ้นให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนาของตนเองและผู้อื่น
- ให้การตอบสนองทางอารมณ์แก่เด็ก คือ ดูแลไม่ให้เด็กมีความทุกข์เกินกว่าพัฒนาการตามวัย ขจัดปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดความทุกข์หรือความคับข้องใจของเด็ก และดูแลเด็กในด้านการจัดการกับอารมณ์ เช่น
แสดงออกถึงความรัก ความผูกพันต่อเด็กอย่างสม่ำเสมอ ให้ความมั่นใจ ปลอบโยนเมื่อเด็กป่วย บาดเจ็บ ทุกข์ใจ หรือต้องการความช่วยเหลือ มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอ ฝึกให้เด็กรู้จักขอความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา หรือเมื่อมีความคับข้องใจ ช่วยให้เด็กระบายและควบคุมอารมณ์อย่างเหมาะสม ผู้ปกครองยอมรับและตอบสนองเมื่อเด็กแสดงความคิดเห็น หรือความรู้สึก
- สร้างความรัก ความเข้าใจ และความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวและสังคม
ยอมรับว่าเด็กเป็นสมาชิกและไม่เลือกปฏิบัติต่อเด็ก ทั้งในเรื่องชาติพันธุ์ ความด้อยทางสติปัญญา ความพิการ เพศ สีผิว รูปร่างหน้าตา เปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของครอบครัว มีแผนและแนวปฏิบัติในทิศทางเดียวกันโดยคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับญาติพี่น้องและเด็กอื่น สนับสนุนให้เด็กสร้างมิตรภาพกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม ส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวแสดงความอ่อนโยน เอื้ออาทรและเห็นอกเห็นใจต่อกัน
- สร้างความรู้และความเข้าใจในขอบเขตระหว่างตนเองและผู้อื่นของเด็ก ได้แก่ ขอบเขตทางกาย จิตใจ และสังคม และการเป็นแบบอย่าง
สอนให้เด็กรู้จักส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมทั้งที่เป็นบริเวณส่วนตัว สอนและไม่ปล่อยให้คนอื่นมาสัมผัสเด็กอย่างใกล้ชิด เช่น หอมแก้ม เปลี่ยนเสื้อผ้า พาไปเข้าห้องน้ำ เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นตามพัฒนาการ และความสนใจของเด็ก โดยไม่รบกวน แนะนำให้เด็กรู้จักปกป้องสิทธิส่วนตัวของตนและเคารพสิทธิส่วนตัวของผู้อื่น ผู้ปกครองเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กในการดำเนินชีวิต ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นตัวอย่างที่เหมาะสมทางเพศ
- ดูแลความปลอดภัยของเด็ก เช่น เสริมสร้างทักษะให้เด็กสามารถวิเคราะห์และหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ฝึกให้เด็กมีวิธีการจัดการความขัดแย้งอย่างเหมาะสม ระแวดระวังไม่ปล่อยให้มีการทะเลาะ รังแก ข่มขู่คุกคามกันในระหว่างเด็ก ไม่ให้เด็กเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับของมึนเมา ยานอนหลับ เหล้าและเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ สารเสพติดหรือสารพิษ พูดคุยตกลงกับเด็กถึงกฎแห่งความปลอดภัยต่อตัวเด็ก สอนให้เด็กรู้จักการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามทางเพศ กำหนดบริเวณที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ติตามดูแลให้เด็กเดินทางด้วยความปลอดภัย
ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคมของครอบครัวของผู้ปกครองหลัก
ในชุมชนที่ครอบครัวอยู่อาศัย มีบริการ เช่น โรงพยาบาล สถานศึกษา สถานีตำรวจ วัด โบสถ์ สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ ครอบครัวมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน บ้านพักและบริเวณโดยรอบสะอาดถูกสุขอนามัย ที่พักอาศัยอยู่ในแหล่งชุมชนที่ปลอดจากแหล่งอบายมุขต่าง ๆ และไม่มีสิ่งผิดกฎหมาย ผู้ปกครองมีรายได้เพียงพอใช้จ่ายในครอบครัว มีการทำงานที่มั่นคงต่อเนื่อง
ด้านกฎหมาย เช่น เด็กและพี่น้องของเด็กมีการจดทะเบียนการเกิด เด็กมีผู้ปกครองตามกฎหมาย เด็กได้เรียนหนังสือตามการศึกษาภาคบังคับ เด็กได้รับสิทธิบริการด้านสาธารณสุขและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ