ผลกระทบของความรุนแรงต่อเด็ก อาจจะไม่ใช่บาดแลทางกาย  แต่บาดแผลทางใจจะได้รับผลกระทบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  พญ.เบญจพร ตันตสูติ  จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นเด็ก โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว ว่า  “ความรุนแรงในครอบครัวที่ส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงกับเด็ก จะเป็นลักษณะของความรุนแรงทางด้านร่างกาย เช่น การโดนตี หรือว่าการทำร้ายร่างกาย แต่นอกเหนือจากนั้นจะมีความรุนแรงทางด้านจิตใจที่เป็นเรื่องของการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม การดุด่าว่ากล่าวด้วยอารมณ์รุนแรง อันนี้ก็กระทบค่อนข้างบ่อย”

ส่วนปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว คือเรื่องของสภาพสังคมเองในปัจจุบัน ซึ่งจะมีสื่อต่างๆ ที่เราจะเห็นว่าเป็นสื่อค่อนข้างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น สื่อในโทรทัศน์ หรือว่าในปัจจุบัน ที่บันทึกอยู่บนโซเชียลมีเดีย อินเตอร์เน็ต โพสต์ต่างๆ  ที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย จะมีลักษณะค่อนข้างรุนแรงในเรื่องของการใช้คำพูด การที่ดุด่าว่ากล่าว ใส่ร้ายอะไรกัน ตรงนี้เป็นความรุนแรง   นอกจากนั้นในคลิปที่เราเห็น อาจจะเป็นคลิปภาพยนตร์ ละคร หรือว่าการ์ตูนบางอย่างที่มีความรุนแรงแอบแฝงอยู่ ซึ่งบางครั้งผู้ปกครองอาจไม่ได้ดูเป็นเพื่อนเด็ก แต่ปล่อยให้เด็กดูคนเดียว บางครั้งเด็กก็อาจจะซึมซับแล้วก็เลียนแบบ โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ  นอกจากนั้นคือ สังคมที่โรงเรียน บางครั้งจะมีการใช้ความรุนแรงกัน เช่น เพื่อนใช้ความรุนแรงกลั่นแกล้งกัน นอกจากนั้นคือในสังคมระดับครอบครัว บางครั้งคุณพ่อคุณแม่มีความเครียด ไม่สบายใจ อาจจะเป็นเนื่องจากเรื่องของสภาพเศรษฐกิจ หรือคุณพ่อคุณแม่บางท่าน ผู้ใหญ่บางคนมีปัญหาสุขภาพจิต ในตรงนี้จะส่งผลให้เกิดความเครียด และบางครั้งไม่มีการแสดงออกที่เหมาะสม แต่ออกมาในเรื่องของความรุนแรง ทะเลาะเบาะแว้งกัน และบางครั้งเด็กอาจจะไม่เชื่อฟัง ผู้ใหญ่มีความเครียดอยู่ บางครั้งก็ใช้ความรุนแรงกับเด็ก

แม้ว่าหลายๆ ครอบครัวอาจจะทราบในเรื่องของความรุนแรง บางครั้งการทราบอย่างเดียว แต่ว่ามันมีด้วยปัจจัยหลายๆ เช่น เรื่องของความเครียดของคุณพ่อคุณแม่ การที่คุณพ่อหรือคุณแม่จัดการความเครียดหรือปัญหาสุขภาพจิตบางอย่างไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใหญ่ในครอบครัวบางท่านมีเรื่องของการใช้ยาเสพติด การดื่มเหล้า บางครั้งคุณพ่อหรือว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมาเหล้าและใช้ความรุนแรงขาดสติ มีเรื่องของปัจจัยเรื่องของสุขภาพจิตเข้ามาด้วย อีกอย่างบางครั้งในเรื่องของตัวเด็กเองด้วย เด็กบางคนอาจจะเป็นเด็กเล็ก อาจจะเอาแต่ใจตัวเอง ยังเป็นวัยที่พัฒนาการการควบคุมตัวเองยังไม่ดีพอ เด็กบางคนมีภาวะซน อยู่ไม่นิ่ง หรือว่ามีภาวะเลี้ยงยาก ทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่มีวิธีจัดการดูแลเด็กที่ถูกต้อง แล้วก็ความเครียดด้วย บางครั้งมันก็เลยออกมาในเรื่องของการใช้ความรุนแรงประกอบกับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สร้างบาดแผลทางใจให้กับเด็กในระยะยาวและก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวอีกด้วย  คุณหมอเบญจพรเสริมในประเด็นนี้ว่า   “ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมในแง่ที่ว่า ในเรื่องของครอบครัว ความรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อตัวเด็ก ตัวเด็กจะเกิดบาดแผลทางจิตใจ บางครั้งอาจจะเป็นเรื่องของวิตกกังวล ซึมเศร้า ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจ ไม่เห็นคุณค่าในตัวตนของตัวเอง มีงานวิจัยหลายๆ อย่างที่บอกว่าความรุนแรงที่เด็กเจอในวัยเด็ก จะติดตามไปถึงตอนที่เขาเป็นผู้ใหญ่ บางครั้งมันก็ส่งผลออกมาในเรื่องของอาการทางกายหลายๆ อย่างด้วย ส่วนในเรื่องของครอบครัว แน่นอนว่ามันส่งผลถึงสัมพันธภาพระหว่างเด็กและคนในครอบครัว ถ้ามีการใช้ความรุนแรงต่อกัน แน่นอนว่าความไว้วางใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ สัมพันธภาพมันก็จะไม่ดี บางครั้งทำให้เกิดความขัดแย้ง เด็กก็อาจจะไปติดเพื่อน หรือว่าหลบไปอยู่ในสิ่งที่ผิดๆ โดยที่บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อยากจะเตือน แต่ด้วยสัมพันธภาพไม่ดี ก็เลยพูดคุยตรงนี้ไมได้ ผลกระทบก็คือเด็กก็อาจจะไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมเท่าไร และทำให้เขามีปัญหาได้

คุณหมอเบญจพรได้แนะนำวิธีป้องกันความรุนแรงต่อเด็กเพิ่มเติมว่า

“วิธีการป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หมอคิดว่าควรจะเริ่มตั้งแต่ ระดับของภาคสังคมและประชาชน เราอาจจะต้องร่วมมือกันในเรื่องของการเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการใช้ความรุนแรง และร่วมมือกันที่จะไม่เผยแพร่สื่อที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง หรือไม่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในการเผยแพร่ความรุนแรงเท่านั้นเอง นอกจากในสังคม ในสื่อ จุดต่อมาที่เราจะช่วยได้ก็คือในครอบครัวของเราเอง พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทั้งในเรื่องของร่างกายและการใช้คำพูดที่รุนแรงต่อกัน พยายามคุยกันด้วยความมีสติและเหตุผล และพยายามหาวิธีการจัดการกับอารมณ์ และเรื่องของการให้ความรู้ตรงนี้ เพราะหลายๆ คนก็ไม่รู้ อาจจะคิดว่าความรุนแรงน่าจะเป็นเรื่องของการใช้กำลัง การทำร้ายทางร่างกายอย่างเดียว แต่จริงๆ ความรุนแรง มันก็เป็นเรื่องของความรุนแรงทางคำพูด หรือการใช้อารมณ์ ก็ถือเป็นความรุนแรงเหมือนกัน”

การจะยุติความรุนแรงต่อเด็กได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกๆคนในสังคม

เริ่มต้นที่ตัวเราเอง ไม่แสดงออกด้วยความรุนแรง และไม่ยอมรับรูปแบบของความรุนแรง

“ในสังคมทั่วไปจะช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก เริ่มต้นที่ตัวเรา ตัวเราต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ จะเป็นพ่อแม่ หรือจะเป็นคนที่ไม่ใช่พ่อแม่ เริ่มต้นด้วยการไม่แสดงออกเป็นความรุนแรง และไม่ยอมรับรูปแบบของความรุนแรงทุกรูปแบบ” คุณหมอเบญจพรกล่าวทิ้งท้าย

https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_2852086

4,971