โรงเรียน เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็กๆ จะทำอย่างไรให้บ้านหลังนี้ ปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับเด็กๆ โครงการโรงเรียนคุ้มครองเด็ก ของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ซึ่งดำเนินงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.กระทรวงศึกษาธิการ และเครือข่ายโรงเรียนคุ้มครองเด็กจำนวน 87 โรง ได้ร่วมกันพัฒนาแนวทางการสร้างความปลอดภัยให้กับเด็กๆ ในทุกมิติ ออกมาเป็น “มาตรฐานโรงเรียนคุ้มครองเด็ก” ซึ่ง สพฐ.ได้มีการประกาศให้โรงเรียนที่อยู่ในสังกัดของสพฐ.ทั่วประเทศ ต้องมีการจัดระบบภายในโรงเรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานโรงเรียนคุ้มครองเด็ก
มาตรฐานโรงเรียนคุ้มครองเด็ก มีรายละเอียดเนื้อหาครอบคลุม 3 มาตรฐาน ได้แก่
มาตรฐานที่ 1 นักเรียนมีความปลอดภัยจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและบุคคลที่อาจก่ออันตรายต่อนักเรียนในโรงเรียน
มาตรฐานที่ 2 นักเรียนได้รับการเฝ้าระวัง การดูแล การช่วยเหลือและการคุ้มครองให้นักเรียนปลอดภัยทั้งในและนอกบริเวณโรงเรียน
มาตรฐานที่ 3 การประสานความร่วมมือกันระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ชุมชน และหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้อง
อินโฟกราฟิก เรื่อง “โรงเรียนกับการสร้างความปลอดภัยให้กับเด็ก” ชิ้นนี้มุ่งเน้นในมาตรฐานที่ 1 คือการสร้างความปลอดภัยจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและบุคคลที่อาจก่ออันตรายต่อนักเรียนในโรงเรียน มีรายละเอียดดังนี้
1.มีกฎเกณฑ์หรือมาตรการหรือแนวทางในการดูแลความปลอดภัยที่ป้องกันอันตรายจากบุคคลทั้งจากภายในและภายนอกโรงเรียน และป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ (Safety Rules) โดยพิจารณาดูในประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้
1.1 มีการจัดระบบรับ-ส่งนักเรียนที่ปลอดภัยให้กับนักเรียนทุกคนในการเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านกับโรงเรียนอย่างเหมาะสม รวมทั้งการจัดทำข้อมูลการเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านกับโรงเรียนของนักเรียน ทั้งกรณีนักเรียนไป-กลับโดยรถรับ-ส่ง นักเรียนเดินเท้าไป-กลับบ้าน นักเรียนนำรถจักรยานหรือรถจักรยานยนต์มาโรงเรียนด้วยตัวเอง และกรณีมีผู้ปกครองมารับ-ส่ง
1) กรณีมีรถรับ-ส่ง มีการตรวจสอบสภาพรถรับ-ส่ง คนขับอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสอบประวัติและความพร้อมในการขับรถของคนขับ(ไม่มีอาการมึนเมา ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้สารเสพติด ไม่มีโรคประจำตัวที่อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุในขณะขับรถ) มีกฎกติกาสำหรับคนขับรถเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน มีการกำหนดให้มีผู้ใหญ่อีก 1 คนอยู่ในรถรับ-ส่งนอกเหนือจากคนขับรถ
2) กรณีนักเรียนเดินเท้าไป-กลับ ให้มีการจัดกลุ่มนักเรียนที่อยู่บริเวณบ้านใกล้เคียงให้กลับบ้านพร้อมกัน โดยอาจมีหัวหน้ากลุ่มนักเรียนหรือผู้ปกครองอาสาสมัครแต่ละกลุ่มคอยช่วยกันดูแล
3) กรณีนักเรียนนำรถจักรยานยนต์หรือจักรยานมาโรงเรียน กรณีรถจักรยานยนต์ ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายจะต้องสวมหมวกนิรภัยตลอดการขับขี่ มีการบันทึกอายุผู้ขับขี่ ทะเบียนรถของนักเรียน มีการบันทึกการอนุญาตใช้รถจากผู้ปกครอง มีการตรวจความปลอดภัยของสภาพรถและจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับสภาพรถ การจดทะเบียน การประกันภัยตามพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ มีการจัดทำข้อมูลนักเรียนที่ซ้อนท้าย มีการจัดอบรมกฎจราจรการขับขี่ที่ปลอดภัยให้นักเรียนและมีการจัดทำใบขับขี่ โรงเรียนไม่สนับสนุนให้นักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า15 ปีนำรถจักรยานยนต์มาโรงเรียน
4)กรณีมีผู้ปกครองมารับ-ส่ง การทำบัตรรับ-ส่งนักเรียนให้แก่ผู้ปกครองซึ่งผู้ที่มารับเด็กจะต้องแสดงบัตรผู้ปกครองให้แก่ครูทุกครั้ง มีการลงลายมือชื่อรับนักเรียนทุกครั้ง กรณีผู้ปกครองนำรถจักรยานยนต์มารับ-ส่งนักเรียนให้มีการสวมหมวกนิรภัยทั้งผู้ขี่และผู้ซ้อน
1.2 มีการกำหนดแผนเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติล่วงหน้า ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟป่า หมอกควันและพายุฤดูร้อน เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนปลอดภัย โดยจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือเชิญวิทยากรให้ความรู้สร้างความตระหนัก และการปฏิบัติตนขณะเกิดเหตุในเรื่องภัยพิบัติต่างๆให้กับนักเรียน จัดให้มีการฝึกซ้อมและการจัดเตรียมพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับการเคลื่อนย้ายนักเรียนเมื่อเกิดภัยพิบัติ
1.3 มีการกำหนดขอบเขตที่เหมาะสม หมายถึง โรงเรียนมีการกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับขอบเขตที่เหมาะสมระหว่างครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียน และมีการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ครู นักเรียน และบุคลากรในโรงเรียนได้รับทราบและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เช่น ห้ามครูกับนักเรียน และห้ามนักเรียนกับนักเรียนต่างเพศอยู่ตามลำพังสองต่อสองในห้องเรียน หรือ ที่ลับตาคน หากจำเป็นจะต้องมีเพื่อนอยู่ด้วยอย่างน้อย 1 – 2 คน รวมถึงการแสดงออกของครูกับนักเรียนควรเป็นไปอย่างเหมาะสม
1.4 มีการสอดส่องดูแลภัยอันตรายที่จะเกิดกับนักเรียนตลอดเวลาที่นักเรียนอยู่ในโรงเรียน เช่น มีครูเวร หรือสภานักเรียนอยู่ตามจุดต่างๆของโรงเรียนทั้งช่วงเช้า พักกลางวัน และหลังเลิกเรียน ให้มีการเปิดประตู หน้าต่างห้องเรียนอยู่เสมอในเวลาพักกลางวัน นักเรียนอนุบาลมีครูดูแลตลอดเวลา รวมถึงในขณะที่นักเรียนเล่นในสนามเด็กเล่น มีผู้ดูแลอย่างน้อย 2 คนอยู่ในโรงเรียนเมื่อนักเรียนคนแรกมาถึงโรงเรียนและเมื่อนักเรียนคนสุดท้ายออกจากโรงเรียน
- มีการกำหนดบริเวณเพื่อให้นักเรียนปลอดภัย (Safety Zone) หมายถึง การกำหนดพื้นที่และจัดให้นักเรียนอยู่ในบริเวณที่มีความปลอดภัย ดังนี้
2.1 กำหนดบริเวณที่อยู่ให้นักเรียน ในช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน พักกลางวันและหลังเลิกเรียน และมีครูเวรคอยดูแลอย่างเหมาะสม
2.2 กำหนดบริเวณเฉพาะสำหรับผู้ปกครองหรือบุคคลภายนอก
2.3 กำหนดพื้นที่จอดรถและจุดรับ-ส่งนักเรียน ที่ชัดเจน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ
2.4 ระบบการควบคุมพื้นที่เสี่ยงบริเวณรอบโรงเรียนและระหว่างบ้านของนักเรียนกับโรงเรียน เฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียนตลอดเส้นทาง
ข้อมูล : มาตรฐานโรงเรียนคุ้มครองเด็ก
https://www.thaichildrights.org/projects/project-current/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD/