จากผลการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด เมื่อปี พ.ศ.2560 ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเทศไทยมีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน ซึ่งทำให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กไทย ทำให้เด็กรู้สึกไม่มีความสุข รู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อมาโรงเรียน เกิดผลกระทบทั้งด้านการเรียน และด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ ตามมา และยิ่งปัจจุบันโลกก้าวเข้าสู่ยุคออนไลน์อย่างเต็มตัว จึงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ปัญหาการรังแกกันในโรงเรียนนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงตามไปด้วย
มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ทำงานร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนคุ้มครองเด็กทั่วประเทศ พบสถานการณ์การรังแกกันในโรงเรียน จึงได้ริเริ่มโครงการการป้องกันการรังแกกันในโรงเรียนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 และ ในปี พ.ศ.2563 มูลนิธิได้ผลิตคู่มือกิจกรรม “การป้องกันการรังแกันในโรงเรียน” เพื่อให้บุคลากรครูและนักเรียนแกนนำ สามารถนำไปจัดกระบวนการกับนักเรียนของตนได้
โดยเนื้อหาในคู่มือประกอบด้วย 6 บทเรียน ซึ่งมีการอธิบายขั้นตอนการจัดกิจกรรมอย่างละเอียด ได้แก่
- บทที่ 1 การเสริมสร้างคุณค่าในตนเองของเด็ก
- บทที่่ 2 ความเข้าใจเกี่ยวกับการรังแกกัน
- บทที่ 3 ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
- บทที่ 4 ผลกระทบจากการถูกรังแก และการช่วยเหลือผู้ที่ถูกรังแก
- บทที่ 5 การจัดการกับสถานการณ์การรังแก
- บทที่ 6 แนวทางการป้องกันและสรุป
มูลนิธิหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คู่มือการจัดกิจกรรมเล่มนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจนำกิจกรรมไปดำเนินการกับเด็ก เพื่อจะทำให้ปัญหาการรังแกกันในโรงเรียนมีจำนวนลดน้อยลงในที่สุด