จากสถิติการทำงานช่วยเหลือและคุ้มครองเด็ก ของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ปี 2560- 2562 พบว่า มีเด็กถูกล่วงเกินทางเพศ 361 ราย ถูกทำร้ายร่างกาย 29 ราย และกรณีอื่นๆ เช่น ถูกเลี้ยงดูโดยมิชอบ ทำร้ายจิตใจ 134 ราย และจากรายงานข้อมูลการกระทำความรุนแรงในครอบครัวของกรุงเทพมหานคร ปีงบประมาณ 2562 (ช่วงเดือนต.ค.61 – ก.ย.62) จากโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ จำนวน 11 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัดสำนักอนามัย จำนวน 68 แห่ง พบว่า มีจำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรง จำนวน 1,115 ราย ช่วงอายุผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่พบมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 26-59 ปี จำนวน 560 ราย คิดเป็นร้อยละ 50.22 รองลงมา คือ ช่วงอายุ 19-25 ปี จำนวน 229 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.45 ผู้กระทำความรุนแรงที่พบมากที่สุด คือ คู่สมรสจำนวน 377ราย คิดเป็นร้อยละ 33.75 รองลงมา คือ แฟน จำนวน 211 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.89 สำหรับลักษณะความรุนแรงที่พบมากที่สุด คือ ถูกทำร้ายร่างกาย จำนวน 862 ราย คิดเป็นร้อยละ 36.90 รองลงมา คือ ถูกละเลย/ทอดทิ้ง จำนวน 115 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.26 ส่วนสถานที่เกิดเหตุที่พบมากที่สุด คือ บ้าน จำนวน 390 ราย คิดเป็นร้อยละ 34.98 รองลงมา คือ สถานที่อื่นๆ จำนวน 302 ราย คิดเป็นร้อยละ 27.09
และจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2560 ซึ่งเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาล จำนวน 622 แห่ง ในประเทศไทยพบว่า มีเด็กเกือบ 9,000 คน ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายและถูกล่วงละเมิดทางเพศ ขณะเดียวกัน ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2558-2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีเด็กอายุระหว่าง 1-14 ปี จำนวนร้อยละ4 คิดเป็นประมาณ 470,000 คนเคยถูกลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรงมากที่บ้าน ในขณะที่แต่ละปีกลับมีผู้แจ้งเหตุรุนแรงต่อเด็กผ่านสายด่วน 1300 เพียงแค่ 3,266 คนเท่านั้น (ข้อมูลจาก https://www.tcijthai.com/news/2019/02/scoop/9099)
จากสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงว่า 'เด็ก'มักตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง ซึ่งการกระทำรุนแรงต่อเด็กหรือการกระทำทารุณกรรมเด็ก ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ก่อให้เกิดความเครียด (Traumatic stress) ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการ โดยเฉพาะพัฒนาการของบุคลิกภาพ โดยผลลัพธ์ของความเครียดและความเสียหายต่อสุขภาพกาย-สติปัญญา และสุขภาพจิต จากการถูกทำร้ายรวมทั้งการถูกเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมอย่างรุนแรง เช่น ความเจ็บปวดทุกข์ใจ (Trauma) ภาวะซึมเศร้า (Depression) ความเครียด (Stress) อารมณ์ผิดปกติแปรปรวน (Mood Disorder) มองคุณค่าในตัวเองต่ำ (Low Self-esteem) ขาดรัก (Inadequacy) ทำให้เด็กไม่สามารถแสดงความรู้สึกออกมาเป็นการกระทำได้อย่างสมวัย ไม่สามารถควบคุมอารมณ์โดยเฉพาะความก้าวร้าวรุนแรงได้ ไม่สามารถปรับตัวกับผู้อื่นได้ ไม่เคารพกฎกติกา ไม่สามารถฟัง พูด อ่าน หรือเขียนได้ตามวัย เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมและปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้เด็กไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข
ผลกระทบความรุนแรงเกิดต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำและคนที่อยู่รอบข้าง เช่น เด็กที่ถูกทุบตีทำร้ายหรือได้เห็นความรุนแรงเสมอๆ จะฝังใจเรื่องความรุนแรง เด็กจะเข้าใจผิดว่าปัญหาแก้ไขได้ด้วยความรุนแรง นอกจากนี้การอยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีความรุนแรงเด็กจะซึมซับเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรง เด็กจะกระทำความรุนแรงต่อเพื่อน และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกระทำความรุนแรงต่อครอบครัวตนเอง ต่อสัตว์เลี้ยงของตนเอง ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ความรุนแรงถ่ายทอดจากพ่อแม่ ลูก หลาน เหลนต่อไป ถ้าเราปล่อยให้ความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ความรุนแรงก็อยู่ในสังคมตลอดไป
มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับการยุติความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบมาเป็นระยะเวลา 39 ปี เช่น การทำร้ายร่างกาย การทำร้ายทางด้านอารมณ์ จิตใจ การล่วงละเมิดทางเพศ การปล่อยปละละเลย ตลอดไปจนถึงการแสวงผลประโยชน์จากเด็ก ได้ตระหนักต่อสภาพปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กในปัจจุบัน และตระหนักว่าการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็ก ไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ต้องอาศัยพลังจากคนในสังคม ที่ร่วมกันสอดส่อง ดูแล ปกป้องเด็ก แม้เด็กเหล่านั้นจะไม่ใช่ลูกหลานของตนเองก็ตาม เพื่อให้เด็กได้เติบโตขึ้นอยู่ท่ามกลางสังคมแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออาทรต่อเด็ก มูลนิธิฯ จึงจัดทำโครงการประกวดผลิตสื่อรณรงค์ 'รวมพลังปกป้องเด็กจากความรุนแรงทุกรูปแบบ' ขึ้น เปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอแนวทางและหรือวิธีการในการร่วมปกป้องคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัยจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ผ่านสื่อภาพเคลื่อนไหว ไม่จำกัดเทคนิคและรูปแบบการถ่ายทำ ความยาวไม่เกิน 3 นาที เพื่อปลุกพลังการเป็นผู้พิทักษ์เด็กของคนในสังคมให้หันมาร่วมกันปกป้องเด็กจากความรุนแรงทุกรูปแบบ
วัตถุประสงค์ของโครงการ
เพื่อเปิดโอกาสให้คนในสังคมได้มีส่วนร่วมรณรงค์ยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็กทุกรูปแบบ
รายละเอียดการประกวด
1.หัวข้อการประกวด
'รวมพลังปกป้องเด็กจากความรุนแรงทุกรูปแบบ'
2.รูปแบบสื่อรณรงค์
สื่อภาพเคลื่อนไหว ไม่จำกัดรูปแบบ เช่น ภาพยนตร์สั้น Animation Motion Graphic Stop motion วิดีโอวาดมือ เป็นต้น (ผู้เข้าประกวดสามารถส่งผลงานได้เพียงแบบใดแบบหนึ่ง)
3.คุณสมบัติผู้เข้าประกวด
นิสิตนักศึกษา ประชาชนทั่วไป ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป
4.วิธีการสมัคร
สมัครออนไลน์ ได้ที่ https://forms.gle/sGgxmqMEqboiucp57
หรือ สแกน QR-code กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัว นิสิตนักศึกษา หรือ บัตรประชาชน
5.เงื่อนไขการผลิตงาน
5.1 ผลิตสื่อรณรงค์ประเภทสื่อภาพเคลื่อนไหว รูปแบบใดก็ได้ ในหัวข้อ 'รวมพลังปกป้องเด็กจากความรุนแรงทุกรูปแบบ' โดยเนื้อหาเป็นการนำเสนอวิธีการว่าเราจะมีส่วนร่วมช่วยเหลือ ปกป้อง 'เด็ก' ในสังคม ให้รอดพ้นจากการกระทำความรุนแรงทุกรูปแบบ ได้อย่างไรบ้าง
5.2 ความยาวในการนำเสนอไม่เกิน 3 นาที รวมไตเติ้ลและเครดิต
5.3 ผู้เข้าประกวดสามารถตั้งชื่อเรื่องตามความเหมาะสม และต้องสอดคล้องกับหัวข้อ (Theme) และเนื้อหา
5.4 การผลิตสื่อรณรงค์ ของทีมผู้ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นผู้เตรียมอุปกรณ์และดำเนินการผลิตเองทั้งหมด
5.5 ผลงานสื่อรณรงค์จะต้องใส่ LOGO ของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและแหล่งทุน Partage ตอนท้ายอย่างต่ำ 3 วินาที ดาวน์โหลดโลโก้ได้ที่ www.thaichildrights.org หรือ https://drive.google.com/file/d/17Euw_RJnnDwBLx9EYdLxjC3KR7V3mygC/view?usp=sharing
5.6 การส่งผลงาน ไฟล์วิดีโอ AVI / MPEG4 / FLV หรือ MP4 ขนาด 1920 x 1080 โดยไม่มีภาพหรือเพลงอื่นใดที่ติดลิขสิทธิ์
5.7 อัปโหลดผลงานของคุณผ่านเว็บบริการอัปโหลดหรือฝากไฟล์ออนไลน์ แล้วส่งลิงค์มาที่ cpcr.cpcr@gmail.com
5.8 ผู้เข้าประกวดต้องเก็บผลงานในรูปแบบไฟล์ต้นฉบับไว้ 90 วัน
5.9 ผลงาน จะต้องมีคำบรรยายเสียงหรือ subtitle ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
5.10 ผลงานทุกผลงานที่ส่งเข้าประกวดถือเป็นลิขสิทธิ์ของโครงการฯ
5.11 ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดเป็นผู้รับผิดชอบต่อลิขสิทธิ์ของข้อมูล ได้แก่ เนื้อหา ภาพ เสียง คลิป วิดีโอ ซอฟต์แวร์ หรืออื่นใดที่ใช้ในการผลิตผลงาน โดยต้องไม่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญา และมีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน
5.12 ผลการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด
6. ขั้นตอนการประกวด
- เปิดรับสมัครและรับผลงานตั้งแต่ 5 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป
- ปิดรับผลงาน วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563
- ประกาศผล และมอบรางวัล ในงานเดินเพลิน@พระอาทิตย์ ครั้งที่ 2 วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2563 ณ สวนสันติชัยปราการ*
7. การตัดสินผลงาน
- ความสมบูรณ์ของเนื้อหา แก่นเรื่อง
- ประโยชน์ต่อผู้ชม
- ระบบเสียง ระบบภาพ มีความสัมพันธ์ เสียงชัดเจน
- การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด ผลงานของทีมได้รับการคัดเลือกจะมีการนำผลงานมาเผยแพร่ในวันประกาศผล
8. การประกาศผล
ประกาศผล และมอบรางวัล ในงานเดินเพลิน@พระอาทิตย์ ครั้งที่ 2 วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2563 ณ สวนสันติชัยปราการ*
9.รางวัล
แบ่งเป็นทั้งหมด 6 รางวัล
รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 25,000 บาท พร้อมใบประกาศ
รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมใบประกาศ
รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมใบประกาศ
รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล รางวัลละ 3,000 บาท
10. การเผยแพร่ผลงาน
สื่อรณรงค์ที่ชนะการประกวด จะมีการนำไปใช้เป็นสื่อรณรงค์ภายใต้โครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กทุกรูปแบบ โดยเผยแพร่ให้กับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และจะถูกนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ของมูลนิธิฯ ได้แก่
- https://www.thaichildrights.org
- https://www.facebook.com/cpcr.cpcr
- Youtube Channel : cpcrfunds
การติดต่อ
ผู้ประสานงาน : นางดารารัตน์ เพียรกิจ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร
โทร.089 033 0820 , 02 412 0738
Email: cpcr.cpcr@gmail.com , dararat08@gmail.com
ที่อยู่ในการติดต่อ : มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
เลขที่ 979 ถ.จรัลสนิทวงศ์ 12 แขวงวัดท่าพระ
เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10600