ที่ผ่านมาภารกิจของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก คือ การทำงานให้ความช่วยเหลือคุ้มครองเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ โดยประสานความร่วมมือกับสหวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมพัฒนาให้บุคคลแวดล้อมเด็ก ได้แก่ ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน อาสาสมัคร ให้สามารถทำหน้าที่ในการส่งเสริมพัฒนาและปกป้องคุ้มครองเด็กนอกจากนี้ยังจัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองเด็กแต่ส่วนใหญ่ผู้เข้าอบรมเป็นบุคลากรที่อยู่ในระดับจังหวัด ในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานในระดับตำบลซึ่งเป็นผู้สามารถเข้าถึงเด็กเพื่อส่งเสริมพัฒนาและปกป้องคุ้มครองเด็กยังขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านการคุ้มครองเด็ก
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2557 เจ้าหน้าที่องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้หารือกับมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เรื่องความร่วมมือในการสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติงานแบบวิชาชีพเรื่องการคุ้มครองเด็กในระดับตำบล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่การกระทำความรุนแรงต่อเด็กในรูปแบบต่าง ๆ และเมื่อเกิดเหตุเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานในระดับตำบลสามารถตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็วโดยประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบวิชาชีพและสามารถประสานส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด ดังนั้นมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กจึงพัฒนา “โครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานในการคุ้มครองเด็กระดับตำบล” โดยดำเนินโครงการความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานหลักในการดำเนินการคือ บ้านพักเด็กและครอบครัว กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยได้รับการสนับสนุนการทำงานจากพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดดำเนินโครงการฯ ได้แก่ โรงพยาบาลระดับอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานีตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม พื้นที่ดำเนินโครงการ คือ พื้นที่ในเขตรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 40 แห่ง ใน10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี พะเยา เชียงใหม่ ระนอง ตรัง ชุมพร ชลบุรี อุดรธานี และอุบลราชธานี
การออกแบบกิจกรรม
มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กได้ออกแบบกิจกรรมเพื่อทำให้เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานในระดับตำบลสามารถปฏิบัติงานให้ความคุ้มครองเด็กในพื้นที่ได้จริง นอกจากการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กแล้ว ยังมีขั้นตอนให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ลงมือปฏิบัติโดยมีผู้ให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองเด็กในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 พื้นที่ในแต่ละจังหวัด ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานทุก 6 เดือนและเมื่อสิ้นสุดโครงการตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 40 พื้นที่ เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวและเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ร่วมกันถอดบทเรียน
จะเห็นว่ากว่าจะทำให้เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานในระดับตำบลให้ความช่วยเหลือคุ้มครองเด็กได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาและใช้พลังอย่างมาก ในฐานะผู้จัดการโครงการต้องเดินทางไป10 จังหวัดและทำหน้าที่ดำเนินการกำกับให้การดำเนินกิจกรรมเป็นไปตามโครงการ รวมถึงการทำความเข้าใจกับผู้บริหารในหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัด ซึ่งการทำความเข้าใจในแต่ละครั้งได้รับการตอบสนองบ้าง ไม่ได้รับการตอบสนองบ้าง แต่ไม่เคยท้อเพราะคิดว่าถ้าเราพูดถูกคนถูกที่ถูกเวลา จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
ด้วยเหตุว่านอกจากดิฉันจะเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กแล้วยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาชีพกฎหมายในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ดังนั้นจะทราบดีว่าประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็ก มีนโยบายร่างยุทธศาสตร์การคุ้มครองเด็กแห่งชาติ เมื่อไปทำงานในพื้นที่พบว่าเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานระดับตำบลส่วนมากยังไม่ทราบเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นในระหว่างการดำเนินโครงการได้นำสิ่งที่มีการพัฒนาในส่วนกลางไปอธิบายให้เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานระดับตำบลทราบเพื่อนำไปใช้ในการคุ้มครองเด็กในพื้นที่และในการลงพื้นที่ไปพบเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานระดับตำบล ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากคนในพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด ทำให้เข้าใจบริบทในพื้นที่มากขึ้น
นอกจากนี้ดิฉันได้ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร เติมพลังและเร่งปฏิกิริยาให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาความสามารถความคิดและแรงบันดาลใจที่จะพัฒนางานคุ้มครองเด็กในพื้นที่พลังเหล่านั้นไม่ได้มาจากตัวดิฉันเองเท่านั้น แต่มาจากความรู้และประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมโครงการเอง การลงพื้นที่ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้คณะทำงานคุ้มครองเด็กระดับตำบล 4 พื้นที่ในแต่ละจังหวัดผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เมื่อดิฉันได้ฟังเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับกิจกรรมที่พื้นที่ต่าง ๆ ในการดำเนินการ หรือประสบการณ์ในการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก ดิฉันจะทำหน้าที่ในการส่งสาร แบ่งปันประสบการณ์จากจังหวัดหนึ่งไปสู่จังหวัดหนึ่งหรือในบางกรณีเป็นเรื่องที่ควรปรับปรุงเพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครองตามกระบวนการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องดิฉันก็จะแบ่งปันประสบการณ์นั้น ๆ โดยไม่บอกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจังหวัดใด เพื่อเป็นบทเรียนให้จังหวัดอื่น ๆ
ความทรงจำที่ประทับใจเดินตามพระราชดำรัส เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา
กว่า 2 ปีที่เดินทางไป 10 จังหวัด มีความประทับใจหลายเรื่องอาทิการอบรมวิธีการใช้แบบคัดกรองเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กตามมาตรฐานขึ้นต่ำให้อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน (อสม.) ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลสวนแตง อำเภอละแม จังหวัดชุมพร หลังจากที่ในพื้นที่เห็นความสำคัญในการใช้แบบคัดกรองเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำ เพื่อทำให้สามารถเข้าถึงเด็กที่พึงได้รับการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสวนแตงเป็นผู้ประสานงานให้ อสม. ในพื้นที่ที่สมัครใจเป็นผู้ใช้แบบคัดกรองดังกล่าวโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพียงแต่ขอให้ดิฉันอธิบายให้อสม.เข้าใจถึงความสำคัญและวิธีใช้แบบคัดกรองเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำสถานที่ที่ใช้ในการอบรม คือศาลาประชาธิปไตย เป็นศาลาเปิดโล่งตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 1 ตำบลสวนแตง อำเภอละแม จังหวัดชุมพร เป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้มีโอกาสเป็นวิทยากรในหมู่บ้านก่อนที่ดิฉันจะเริ่มพูดคุยกับอสม.ดิฉันยกมือไหว้พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาล ที่ 9 คิดในใจว่าจะเดินตามรอยพระราชดำรัสของพระองค์ คือ “ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
เมื่อดิฉันเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กพ.ศ.2546 และกฎหมายอื่นๆ รวมทั้งการอบรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานในการคุ้มครองเด็ก หลังจากอบรมแล้ว ดิฉันไม่ทราบว่าผู้เข้าอบรมเหล่านั้นได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายมากน้อยเพียงใด แต่เมื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ อสม.ดิฉันรู้ว่าพวกเขาเหล่านี้จะเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ เพราะเขารู้บริบทในพื้นที่ว่าบ้านไหนมีสมาชิกกี่คน แต่ละบ้านมีเด็กกี่คน และเด็กแต่ละคนมีสภาวะอย่างไร การเรียนรู้แบบคัดกรองเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำ ทำให้พวกเขาเห็นประเด็นในการหาข้อมูลเพื่อทำให้การคัดกรองเด็กชัดเจนขึ้น ทำให้สามารถเข้าถึงแจ้งเหตุ ประสานงานส่งต่อให้เด็กได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กรวดเร็ว ในการอบรมครั้งนั้นดิฉันทำหน้าที่ในการแบ่งปันแต่ในขณะเดียวกันดิฉันได้เรียนรู้หลายเรื่องจากคนในชุมชน
ต้นไม้หยั่งราก และแพร่พันธุ์แล้ว
ถ้าเปรียบโครงการนี้กับการปลูกต้นไม้ เหมือนการนำต้นไม้ไปปลูกลงดินใน 40 พื้นที่ซึ่งมีบริบทสิ่งแวดล้อม ปัจจัยเอื้อแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในพื้นที่ ในช่วง 6 เดือนแรกเห็นความเปลี่ยนแปลงไม่มากนักแต่หลังจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างพื้นที่แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาในการดำเนินโครงการมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทั้งตัวเด็ก ครอบครัว ชุมชน ตอนนี้ต้นไม้เหล่านี้ได้เติบโตหยั่งรากลึกในพื้นที่ และกำลังแพร่พันธุ์ไปยังพื้นที่อื่น ปัจจุบันกรมกิจการเด็กและเยาวชนกำหนดภารกิจให้บ้านพักเด็กและครอบครัวดำเนินการขยายพื้นที่การดำเนินโครงการไปยังพื้นที่อื่น เป็นโอกาสของเด็ก ๆ ในพื้นที่เหล่านั้นที่จะได้รับการส่งเสริมพัฒนาและปกป้องคุ้มครอง
เวลา 2 ปี 3 เดือนผ่านไปอย่างรวดเร็วท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก และผู้พิทักษ์เด็กในพื้นที่ 10 จังหวัด ขอบคุณโอกาสที่ทำให้เราได้ลงมือทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในการขยายพื้นที่การรับรู้เรื่องการคุ้มครองเด็ก เป็นโอกาสที่เด็กจะได้รับการส่งเสริมพัฒนา ได้รับการปกป้องคุ้มครอง
ขอขอบคุณกัลยาณมิตรทุกคนที่ร่วมเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ และลงมือทำเพื่อเด็ก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านพักเด็กและครอบครัว และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ทั้ง10 จังหวัด
ขอบคุณเด็ก ๆ เปรียบเสมือน “ครู” ที่ทำให้เราได้เรียนรู้
ขอบคุณองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ที่เข้าใจและให้การสนับสนุนด้วยดีเสมอมา