7 กรกฎาคม 2565  : มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ร่วมกับ เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง ‘สถานการณ์นโยบายกัญชาของประเทศไทย ควรจะปกป้องเด็กและเยาวชนอย่างไร?’ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.30-11.30 น. ทาง ZOOM   ร่วมแลกเปลี่ยนโดย..ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health, Canada  รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินรายการโดย นางสาววาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย  เพื่อให้ความรู้ประชาชน องค์กร และผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริงและร่วมกันปกป้องลูกหลานไทย

รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ กล่าวว่า “การใช้กัญชาแม้จะใช้หรือได้รับสารTHC เพียงครั้งเดียวก็มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง  เช่น มีผลต่อจิตและประสาท เคลิ้มสุข อารมณ์ผิดปกติ มีอาการทางจิต หวาดระแวง ประสาทหลอน ความจำบกพร่อง การตัดสินใจบกพร่อง แต่หากใช้กัญชาในระยะยาว มีผลต่อพัฒนาการของสมอง โดยเฉพาะหากเริ่มใช้ตั้งแต่อายุน้อย สติปัญญาบกพร่อง ผลการเรียนตกต่ำ พุทธิปัญญาและพฤติกรรมผิดเพี้ยนชนิดไม่กลับคืน การตัดสินใจช้า มีอาการทางจิต เช่น ประสาทหลอนหวาดระแวง ก้าวร้าว เพิ่มความเสี่ยงของโรคจิตเรื้อรัง  และอาการอื่นๆ เช่น กลุ่มอาการอาเจียนอย่างรุนแรงจากกัญชา กลุ่มอาการหลอดเลือดสมองหดตัวแบบผันกลับได้ และมีข้อควรระวังเรื่องการใช้กัญชาร่วมกับยาอื่นหลายชนิด เนื่องจาก THC และ CBD จะทำให้ระดับยาอื่นเพิ่มสูงขึ้นจนอาจเกิดอาการข้างเคียงได้”

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด กล่าวว่า สถานการณ์ของนโยบายกัญชาในประเทศไทย หลังจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กำหนดให้พืชกัญชาไม่เป็น ยาเสพติด มีเพียงสารสกัดที่มี THC มากกว่า 0.2% เท่านั้นที่เป็นยาเสพติดส่วนพืชกัญชา เช่น ช่อดอก ที่มี THC 10-20% จะไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป เท่ากับว่าสถานการณ์ตอนนี้คือ ‘กัญชาเสรี’ ทุกคนสามารถสูบกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าเด็กอายุเท่าไหร่ก็สามารถสูบได้โดยไม่ผิดกฎหมาย  เราต้องเข้าใจว่ากัญชามีทั้งด้านบวกและด้านลบ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างเพียงพอเนื่องจากยังไม่มีนโยบายควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างเพียงพอ

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า สถานะทางกฎหมายไม่ได้เปลี่ยนฤทธิ์ของกัญชา ฤทธิ์เมา ฤทธิ์เสพติด ฤทธิ์ทำลายสมองยังมีอยู่ครบถ้วน กัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ ประเทศไทยจะต้องออกแบบนโยบายให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดและลดโทษที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด การออกแบบนโบายกัญชาต้องใช้มุมมองด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวกับโทษของกัญชาร่วมด้วย ไม่เพียงใช้มุมมองด้านเศรษฐกิจ ต้องรับฟังผู้มีสวนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้านและออกแบบนโยบายร่วมกัน เพื่อที่จะรักษาประโยชน์ของประชากรสวนใหญ่ของประเทศ โดยประเทศไทยจะต้องมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างรอบคอบรัดกุมก่อนที่จะมีการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดอย่างเป็นทางการ  การเสนอให้ชะลอการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ไม่ใช่การขัดขวางการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ที่ใช้อย่างถูกต้อง แต่เป็นการเสนอเพื่อให้สังคมหาทางออกในลักษณะ “ทางสายกลาง” ระหว่างการควบคุมกัญชาแบบเข้มงวดเกินไป และ การปล่อยกัญชาให้แพร่หลายในสังคมแบบหละหลวมเกินไป อันจะส่งผลให้เกิดการใช้กัญชาในทางที่ผิดได้มากในอนาคต

สามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://youtu.be/gZRVxpU_bKE

24