ปี 2564 มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กได้พัฒนาคู่มือการจัดกิจกรรมป้องกันการรังแกกันสำหรับครู เพื่อนำไปใช้กับนักเรียน โดยมีทั้งการจัดกิจกรรมแบบออนไลน์ และ การจัดกิจกรรมแบบ on site และมีแผนที่จะสนับสนุนโรงเรียนให้นำเอาคู่มือกิจกรรมไปใช้กับนักเรียน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายโรงเรียนไม่สามารถดำเนินงานได้ตามแผนที่วางไว้ แต่ก็มีบางโรงที่ทำกิจกรรม และมูลนิธิฯได้เข้าไปร่วมสนับสนุนช่วยเหลือ และเห็นถึงบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับการทำกิจกรรมป้องกันการรังแกกันในโรงเรียน

โรงเรียนสามพาดพิทยาคาร จังหวัดอุดรธานี เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาและเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่มีแผนว่าจะทำกิจกรรมป้องกันการรังแกกันให้กับนักเรียน การดำเนินงานโครงการนี้มีบุคลากรครูเป็นทีมงานจำนวน 2 คน ด้วยความที่ทีมงานมีไม่มาก จึงทำให้ครูมีแนวคิดที่จะดึงเอาสภานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 เข้ามาร่วมเป็นทีมงานด้วยจำนวน 7 คน สภานักเรียนเหล่านี้ไม่เคยมีประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมป้องกันการรังแกกันมาก่อน  ถือได้ว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกสำหรับพวกเขา และเป็นโอกาสอันดีในการได้เปิดมุมมองและเปิดประสบการณ์ใหม่ๆที่เป็นการพัฒนาตนเองได้เป็นอย่างดี

หน้าที่หนึ่งของสภานักเรียน คือ การเป็นกระบวนกรหลักในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการรังแกกันให้กับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆในโรงเรียน ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน  51  คนตามคู่มือการจัดกิจกรรมที่มูลนิธิฯได้พัฒนาเอาไว้ ประสบการณ์ในครั้งนี้ทำให้สภานักเรียนมีความกล้าแสดงออกและมีความมั่นใจมากขึ้น ได้เรียนรู้เทคนิคการตั้งคำถามจากการเรียนรู้ ได้เรียนรู้การเป็นกระบวนกรโดยมีทีมงานครูและทีมงานมูลนิธิศูนย์พิทกษ์สิทธิเด็กเป็นพี่เลี้ยง สภานักเรียนบางคนไม่ได้รับบทบาทการเป็นกระบวนกร  แต่ก็ทำหน้าที่ที่ตนเองถนัด  อาทิ ด้านคอมพิวเตอร์  เช่น การทำไฟล์นำเสนอ การเปิดปิดไฟล์หรือคลิปหรือเพลงต่างๆในกิจกรรม รวมถึงการเตรียมอุปกรณ์ประกอบการจัดกิจกรรม ฯลฯ

เสียงสะท้อนจากสภานักเรียนกลุ่มนี้หลังจากกิจกรรมจบลง พวกเขาบอกว่าเป็นความแปลกใหม่ที่ไม่เคยพบเจน เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีประสบการณ์ทำกิจกรรมแบบนี้มาก่อน แต่ก็รู้สึกสนุก ชอบ และทุกคนร่วมมือกันเป็นอย่างดี

ทีมงานครูที่ดูแลกิจกรรมนี้สะท้อนว่า หลังจากสภานักเรียนได้มีโอกาสเป็นกระบวนกรนำกิจกรรม  ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าสภานักเรียนเหล่านี้มีความเข้าใจเรื่องการรังแกกันมากขึ้น  สามารถแยกแยะได้ว่าการเล่นกัน และการแกล้งกัน แตกต่างกันอย่างไร รวมถึงนักเรียนมีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจเพื่อนดีขึ้น

การเป็นผู้รับ หรือผู้ฟังการอบรม ผลลัพธ์ที่ได้อาจได้รับข้อมูลความรู้ระดับหนึ่ง แต่การเป็นผู้ให้ความรู้ผู้อื่น จะช่วยพัฒนาให้พวกเขาเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการรังแกกันระหว่างเด็กนั้น การให้เด็กดูแลกันถือว่าเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาการรังแกกันในโรงเรียนได้ เพราะการรังแก เกิดขึ้นระหว่างเด็ก กับ เด็ก หากเราทำให้เด็กเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกัน จะช่วยลดปัญหาการรังแกกันในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี

ผู้เขียน : ทองไพรำ ปุ้ยตระกูล หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเด็กและครอบครัว

323