..เด็กชายหน้าตาดี สูงใหญ่ สมาร์ท ตัวโตเกินช่วงวัยมัธยมต้น  แว๊บแรกที่เห็นเด็กคนนี้  เห็นแววตา กิริยามารยาท คิดกับตัวเองว่า เราต้องแก้ไขเด็กคนนี้ได้ เพราะมองดูแล้ว เด็กคนนี้ไม่ได้แย่โดยสันดาน  แม้จะรู้เพียงเบื้องต้นว่าเด็กพ่อแม่แยกทางกัน เด็กถูกเลี้ยงแบบตามใจ อยากได้อะไรก็หาให้ จนก่อให้เกิดปัญหาพฤติกรรมต่างๆ..

ถึงแม้เด็กคนนี้สังคมไม่เอาแล้ว  เราต้องช่วยเขาให้ได้  โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เราต้องให้โอกาสเด็ก แม้จะมีเสียงทัดทานจากเพื่อนครูและคนในชุมชนก็ตาม

ช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 เด็กมาเรียนบ้าง ไม่มาบ้าง เราก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามถึงบ้าน เห็นเด็กใส่ชุดนักเรียนนอนอยู่ที่ห้องไม่ไปโรงเรียน ได้แต่ชวนเด็กคุย ถามถึงสาเหตุ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ใช้คำว่าแม่กับเขา ใช้คำพูดเชิงบวก แทนการด่า หรือถ้อยคำที่รุนแรง พยายามพูดให้เขามองว่าตัวเองมีคุณค่า ทุกคนรัก ลูกจะตัดอนาคตตัวเองหรือ  หนึ่งเดือนผ่านไป พฤติกรรมดีขึ้นทีละน้อยๆ มาโรงเรียน พยายามใช้คำว่ากัลยาณมิตรกับเด็กทั้งคำพูด และกิริยาท่าทาง เราก็จะคุยกับเพื่อน ให้เพื่อนช่วย สองเดือนผ่านไป พฤติกรรมเริ่มดีขึ้น  ชวนเด็กเข้าวงดุริยางค์ของโรงเรียน  เมื่อเขาทำได้เขาก็มีความสุข

จากการที่เรียนรู้เทคนิค วิธีการที่เข้าร่วมกับมูลนิธิฯ บอกตรงๆ เราได้มาก โดยเฉพาะกิจกรรมห้องเรียนครู สิ่งที่สำคัญก็คือ การที่ทำให้ใจเราเย็นลง คิดบวกเข้าไว้ๆ เห็นเด็กแล้วก็นำห้องเรียนครูมาใช้ เรื่องการเข้าใจธรรมชาติของเด็ก พัฒนาการแต่ละวัยของเด็ก แต่ละช่วงชั้น ใช้เวลาสามเทอม จากสังคมไม่เอาเขาแล้ว สิ่งที่เราทำเชิงบวก จากเทคนิควิธีการที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิฯ  เราเชื่อมั่นว่าเชิงบวกเปลี่ยนชีวิตเด็กได้

ทุกวันนี้เด็กคนนี้เป็นหัวหน้าชั้นเรียน เข้าวงดุริยางค์ เป็นนักกีฬาโรงเรียน ทำงานจิตอาสา ทำงานร่วมกับอำเภอ ลงเยี่ยมเยียนผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยผู้สูงอายุ  และช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆในโรงเรียน

ถามว่าเหนื่อยมั้ย บอกตรงๆว่าเหนื่อย บางครั้งท้อ ร้องไห้กับคำว่าเด็กอภิสิทธิ์ แต่สิ่งที่เราได้รับมันเป็นรอยยิ้มของเด็ก มันเป็นรอยยิ้มที่ไร้เดียงสา เป็นรอยยิ้มที่ทำให้เรามีความสุข ในการทำงานทุกครั้ง  จะน้อมนำพระบรมราโชวาทของรัชการที่ 9 มาเป็นหลักคิดในการทำงาน “เยาวชนทุกคนมิได้ต้องการทำให้ตนเองตกต่ำหรือเป็นปัญหาแก่สังคมแต่ประการใด แท้ที่จริงแล้วเขาต้องการเป็นคนดี ต้องการที่จะมีความสำเร็จ มีฐานะ มีเกียรติและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างราบรื่น แต่การที่เขาจะถึงจุดประสงค์หรือถึงเป้าหมาย จำเป็นต้องมีผู้ชี้แนะ แนะนำ ดูแลเค้าให้เค้าดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง”

การทำงานกับเด็ก ถึงแม้เราจะเหนื่อยจะท้อ แต่สิ่งที่เราได้รับมันเป็นความสุขอย่างยิ่ง 13 ปี ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก  37 ปีที่ทำงานรับราชการครู มันเป็นสิ่งที่เราผูกพันกับเด็กมาโดยตลอด  ในความเป็นครูถามตัวเอง จากวันนั้นจนถึงวันนี้ มองแล้วเราสุขใจ ยิ้มกับตัวเองว่าฉันทำได้ ฉันช่วยเด็กคนนี้ได้  และเราก็จะใช้วิธีการแบบนี้ในการดูแลเด็กที่มีปัญหาทุกคน

ต้นเรื่อง : นางจิรภัทร ยะจา โรงเรียนบ้านห้วยไซ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 1

เรียบเรียง: ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

ภาพประกอบ: สายใจ ศรีลิ้ม

79