กรณีติดตั้งตู้ถุงยางอนามัยในสถานศึกษา ที่มีการแถลงข่าวล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวีและการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแสดงข้อคิดเห็นต่างๆนานา
สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ว่า “การติดตั้งตู้จำหน่ายถุงยางฯในสถานศึกษาแสดงว่าผู้เสนอคิดว่า การที่เด็กไม่สวมถุงยางฯมีเหตุมาจาก เด็กไม่สามารถเข้าถึงถุงยางฯ ซึ่งไม่น่าใช่เพราะมีขายตามร้านซื้อสะดวกทั่วไป หากสู้ราคาไม่ไหวก็ยังสามารถซื้อได้ตามห้องน้ำของศูนย์การค้าในราคาเพียงสิบบาท นอกจากนั้นไม่ใช่เด็กไม่รู้วิธีการคุมกำเนิดแบบนี้ จากสถิติการตั้งครรภ์ในเด็กพบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมตัวไปมีเพศสัมพันธ์ แต่เป็นเพราะตกเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกเร้าอารมณ์เพศจนไม่สามารถยับยั้งตนเองได้ต้องร่วมเพศกัน อีกทั้งเด็กชายบางคนขาดความรับผิดชอบไม่ยอมสวมถุงยางฯ ด้วยข้ออ้างถึงการสัมผัสที่ด้อยคุณภาพ ดังนั้นการแก้ไขประเด็นแรกต้องให้เด็กเข้าใจว่าสถานการณ์ใดที่สามารถเร้าอารมณ์เพศ มีปัจจัยใดเร้าอารมณ์เพศ สำหรับกลุ่มที่ไม่ยอมใช้ถุงยางฯต้องดำเนินการให้เด็กชายและผู้ปกครองรับผิดชอบต่อการตั้งครรภ์ร่วมกับฝ่ายหญิงไม่ใช่จับเด็กแต่งงานกัน รวมทั้งต้องให้พวกเขาเข้าร่วมกิจกรรมกระตุ้นให้เกิด empathy กับผู้อื่นโดยเฉพาะบุคคลแวดล้อม ฯลฯ “
นอกจากนี้ประธานมูลนิธิฯ ยังได้วิเคราะห์ถึงการที่เด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรนั้น มีสาเหตุมาจาก
๑. เด็กไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่ โดยเฉพาะไม่ได้รับการฝึกฝนให้ดูแลตนเองเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ เช่น การรักษาความสะอาดร่างกาย อวัยวะเพศ การปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับการทำงานของฮอร์โมนเพศ เช่น เข้าใจการเกิดอารมณ์เพศว่ามีที่มาอย่างไร ปัจจัยใดบ้างที่สามารถกระตุ้นเร้าอารมณ์เพศและการไต่ระดับของอารมณ์เพศของหญิงและชายว่าแตกต่างกันอย่างไร ทั้งนี้จะทำให้เด็กสามารถป้องกันตนเองไม่ให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่จะถูกกระตุ้นเร้าอารมณ์ทางเพศ จนไม่สามารถควบคุมตนเองในเรื่องเพศได้ เรื่องนี้มีความมีความสำคัญยิ่งกว่าการสอนเด็กเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
๒. เด็กไม่มีความรักผูกพันกับพ่อแม่ ขาดความรู้สึกผูกพันเข้าถึงอารมณ์จิตใจซึ่งกันและกัน เด็กจึงไม่มีความสุขขณะอยู่ที่บ้าน รวมทั้งพ่อแม่ก็ไม่ได้มีความรู้สึกที่ดีเมื่อลูกอยู่บ้าน ขัดแย้งซึ่งกันและกันเป็นปกติวิสัย จนไม่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจอารมณ์จิตใจของกันและกัน
๓. เด็กไม่รู้เท่าทันอารมณ์เพศของตนเอง ไม่ตระหนักถึงภัยทางเพศเมื่อถูกกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เพศ ทั้งนี้เพราะเด็กขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องปัจจัยที่สามารถเร้าอารมณ์เพศ ว่าเป็นอย่างไร ทำให้เด็กตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกระตุ้นเร้าอารมณ์เพศโดยไม่รู้เท่าทัน ทั้งนี้เด็กวัยรุ่นมักเกิดอารมณ์เพศได้ง่าย เพียงแต่คิดถึงเรื่องเพศเพราะฮอร์โมนเพศในกระแสโลหิตของวัยรุ่นมีความเข้มข้น มากกว่าวัยอื่นๆ ดังนั้นการสอนเรื่องเพศสัมพันธ์หรือส่งเสริมให้เด็กพกถุงยางอนามัยหรือกินยาคุมกำเนิด จึงเท่ากับกระตุ้นให้เด็กหมกมุ่นเรื่องเพศโดยตรง ดังนั้นการแก้ไขป้องกันปัญหาในเรื่องนี้ จึงต้องเพิ่มโอกาสให้เด็กได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์พัฒนาตนด้านต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมอาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์เพื่อให้เด็กสนใจความเป็นตายร้ายดีของคนอื่น รู้จักคิดเพื่อช่วยเหลือคนอื่นมากกว่าคิดถึงตนเองหรือหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องของตน
๔ เด็กไม่รู้จักวางตนหรือไม่สามารถกำหนดขอบเขตในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพศตรงข้ามให้สอดคล้องกับความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ไม่สามารถวางตนให้แตกต่างในการคบเพื่อนต่างเพศและคบในฐานะคนรัก ทั้งนี้เพราะผู้ปกครองมักจะห่างเหินจากลูกวัยรุ่นและไม่ได้พาลูกเข้าสังคมร่วมกับตน เช่น ไปเยี่ยมญาติหรือครอบครัวเพื่อนๆ ไปร่วมปฏิบัติกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ร่วมงานบุญ งานประเพณี งานศิลปวัฒนธรรม ทำกิจกรรมทางศาสนา ฯลฯ ทั้งที่การชักชวนเด็กไปร่วมกิจกรรมข้างต้น จะช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมโดยเฉพาะความสามารถในการวางตนที่เหมาะสมของเด็กได้เป็นอย่างดี
๕. เด็กขาดการช่วยเหลือชี้แนะจากพ่อแม่ ให้สร้างทักษะในการจัดการกับอารมณ์เพศได้อย่างสร้างสรรค์แทนการมีเพศสัมพันธ์ ได้แก่ การทำกิจกรรมที่ต้องออกกำลังกายและกระตุ้นให้สมองหลั่งสารความสุข เช่น การเต้นแอโรบิก การท่องเที่ยวปีนเขา เดินป่า ดูนก เล่นกีฬาสนุก ฯลฯ ทั้งที่กิจกรรมข้างต้นทำให้เด็กสามารถออกกำลังกายอย่างมีความสุข ช่วยเผาผลาญฮอร์โมนความเครียดทั้งหลายรวมทั้งอารมณ์เพศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๖. เด็กวัยรุ่นมักใช้เวลาหมกมุ่นอยู่กับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการอยู่เฉยๆ การคิดถึงแรงดึงดูดทางเพศต่อเพศตรงข้ามของตนเอง คิดเกี่ยวกับเพศตรงข้าม ดูโทรทัศน์ เล่นเกม เข้า Internet ฯลฯ จึงมีผลทำให้เกิดความเครียดซึ่งจะกระตุ้นฮอร์โมนเพศและอารมณ์เพศตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชี้แนะให้เด็กแก้ปัญหาความต้องการทางเพศด้วยการสำเร็จความใคร่ตนเอง จะยิ่งมีผลกระตุ้นให้เด็กต้องการมีเพศสัมพันธ์จริงๆกับเพศตรงข้ามมากยิ่งขึ้นเพราะการสำเร็จความใคร่ตนเอง ไม่ได้ทำให้เด็กสามารถออกกำลังกายอย่างมีความสุข จึงไม่อาจช่วยเผาผลาญฮอร์โมนความเครียดหรือลดอารมณ์เพศ ทั้งนี้เมื่อเกิดอารมณ์เพศ ร่างกายจะหลั่งสารความเครียดต่างๆเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อให้มีพลังความแข็งแรงสำหรับการร่วมเพศ กล้ามเนื้อจะเขม็งเกลียว เกิดความตึงเครียดทั้งด้านร่างกายจิตใจ หัวใจเต้นเร็วและหายใจสั้นกระชั้น การร่วมเพศจริงๆจะมีการออกกำลังกายเผาผลาญฮอร์โมนความเครียดและสมองหลั่งสารความสุขเมื่อสำเร็จความใคร่ แต่การสำเร็จความใคร่ตนเองไม่มีกระบวนการดังกล่าว
ดังนั้น การพัฒนาเด็กในด้านเพศจึงควรเน้นไปที่การดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่ การที่พ่อแม่ให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพอนามัยทางเพศ การปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับการเริ่มทำงานของฮอร์โมนเพศ เข้าใจเรื่องอารมณ์เพศ ปัจจัยใดบ้างที่สามารถกระตุ้นเร้าอารมณ์เพศ การพัฒนาเด็กให้สามารถวางตัวให้สอดคล้องเหมาะสมและมีปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับเพศตรงข้าม ด้วยการพาเด็กไปเข้าสังคมต่างๆ รวมถึงการพัฒนาเด็กให้มีทักษะในการจัดการกับอารมณ์ทางเพศ ด้วยการให้เด็กได้ทำกิจกรรมพัฒนาตนที่ต้องออกกำลังกายและกระตุ้นให้สมองหลั่งสารความสุข
การพัฒนาเด็กดังกล่าวข้างต้นนั้น มีความคุ้มค่าอย่างมาก ทั้งในแง่ต้นทุนที่ใช้นั้นไม่มาก อีกทั้งยังทำให้เด็กมีความสุข ครอบครัวมีความสุข เด็กมีพฤติกรรมดีทุกด้านโดยเฉพาะเรื่องเพศ
กล่าวโดยสรุปแล้ว การสอนเด็กเรื่องเพศ ควรจะต้องประกอบด้วย
๑ เริ่มที่การรู้จักดูแลร่างกายจิตใจตนเองเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ โดยทำให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับตนเองโดยเฉพาะเรื่องเพศ
๒. สร้างเงื่อนไขไม่ให้เด็กวัยรุ่นหมกมุ่นกับตนเอง การรู้จักและเท่าทันอารมณ์เพศ ปัจจัยที่สามารถกระตุ้นอารมณ์เพศ การรู้จักหลีกเลี่ยงจากปัจจัย หรือสถานการณ์ที่สามารถกระตุ้นเร้าอารมณ์เพศ
๓. ถ่ายทอดทักษะทางสังคม โดยเฉพาะรู้จักในการวางตนกับเพศตรงข้าม
๔.ทักษะในการทำกิจกรรมทดแทนการมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีสำเร็จความใคร่ หรือการมี Safe sex ดังที่มีการรณรงค์อย่างกว้างขวางทางสังคม
นอกจากนั้น การกระตุ้นส่งเสริมให้เด็กประสบความสำเร็จทางการศึกษา โดยเน้นไปที่พัฒนาการด้านการรู้จักคิดของเด็กหรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่าCognitive Development จะช่วยสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองให้แก่เด็ก เด็กจะมีสมาธิกับการพัฒนาตนเองแทนการหมกมุ่นในเรื่องเพศ รวมทั้งทำให้เด็กรู้ใคร่ครวญไตร่ตรองชั่งผลดีผลเสียก่อนจะตัดสินใจทำอะไร รู้จักตั้งข้อสังเกตคิดวิเคราะห์หาข้อสรุปด้วยตนเอง รู้จักการวางแผนในการดำเนินชีวิตของตน ทำให้เด็กเติบโตได้อย่างมีคุณภาพไม่มีปัญหาเรื่องเพศ