ประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เขียนลงในไทม์ไลน์ส่วนตัววิเคราะห์กรณีข่าวเด็กหญิงอายุ13 ปีฆ่าตัวตาย ไว้ดังนี้
จากกรกรณีเกิดเหตุเด็กหญิงวัย 13 ปี นักเรียนชั้น ป.6 จากโรงเรียนแห่งหนึ่งใน ต.แม่สาย อ.แม่สาย ได้ใช้เชือกแขวนคอตัวเองเสียชีวิตภายในร้านจำหน่ายอาหารและอุปกรณ์สุนัข เหตุเกิดวันที่ 5 เม.ย.2558 มีผู้วิเคราะห์ในสองทางว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ ระหว่างการถูกล่วงเกินทางเพศโดยครูพละหรือผิดหวังเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับเด็กชายผ่านทางสื่อออนไลน์ กันแน่ แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใดก็คงจะไม่ใช่มูลเหตุที่ทำให้เด็กฆ่าตัวตาย ทั้งนี้เด็กจำนวนมากที่ถูกล่วงเกินทางเพศหรือผิดหวังในเรื่องความรักก็ไม่ได้ฆ่าตัวตาย
เหตุนั้นประกอบด้วยมูลเหตุและสาเหตุ มูลเหตุคือข้อเท็จจริงหรือปรากฏการณ์ที่เป็นบ่อเกิดของข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ต่างๆ สาเหตุประกอบด้วยห่วงโซ่ของข้อเท็จจริง หรือเหตุการณ์และกลุ่มของข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์บางอย่าง
ดังนั้นเราจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุที่ทำให้เด็กฆ่าตัวตาย ซึ่งประกอบด้วย อะไรคือมูลเหตุและอะไรคือสาเหตุ เมื่อเราทราบขั้นต้นแล้วว่า น่าจะมาจากการถูกล่วงเกินทางเพศโดยครูพละหรือผิดหวังเกี่ยวกับความรัก จึงสามารถพิจารณาประเด็นที่เป็นมูลเหตุ ทั้งนี้มักจะมีปัจจัยควบคู่กันคือ
1.ภาวะซึมเศร้า (depressed) และคำว่าความเศร้า (sad) มีความหมายเหมือนกัน แต่ในทางคลินิกแล้วภาวะซึมเศร้าจะประกอบด้วยความรู้สึกมากกว่า 1 อย่าง อาทิ ความโกรธ, ความกลัว, ความกังวล, ความสิ้นหวัง, ความรู้สึกผิด, ความไร้อารมณ์ และ/หรือความเศร้า จัดเป็นภาวะที่อันตรายต่อร่างกายและมีผลกระทบต่อการทำงานของสมอง (http://th.wikipedia.org/)
2. ความรู้สึกเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตนเอง(Identity) เป็นด้านลบ ได้แก่ ความรับรู้เกี่ยวกับตนเอง (sense of self) เด็กจะรู้สึกว่าตนเป็นคนไม่ดี เป็นคนบาป เป็นคนที่ไม่มีใครรักใครชอบไม่มีใครต้องการ รวมทั้งมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนไม่มีคุณค่า (Low self-esteem) ซึ่งอาจรวมไปถึงรู้สึกว่าตนเป็นคนไร้ความสามารถไม่สามารถประสบความสำเร็จใดๆ
บ่อเกิดของการฆ่าตัวตายของเด็กที่อยู่ในภาวะอารมณ์จิตใจของความโกรธ, ความกลัว, ความกังวล, ความสิ้นหวัง, ความรู้สึกผิด, ความไร้อารมณ์ และ/หรือความเศร้า รวมทั้งรู้สึกว่าตนเป็นคนไม่ดี เป็นคนบาป เป็นคนที่ไม่มีใครรักใครชอบไม่มีใครต้องการ รวมทั้งมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนไม่มีคุณค่าเหล่านี้ นับเป็นเชื้อไฟที่ไวมากต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตาย ยิ่งเมื่อเด็กกำลังอยู่ในวัยรุ่นต้น คืออายุระหว่าง 12ปี ถึง 15 ปีโดยประมาณ ก็จะยิ่งเหมือนการเพิ่มความเร็วของการตัดสินใจฆ่าตัวตายมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้เป็นเพราะเป็นช่วงวัยที่ร่างกาย สมอง และจิตใจเกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลจาก Hormone เพศในเด็กหญิง เริ่มทำงาน หน้าอกจะขยายตัวและค่อยๆมีลักษณะกลมโต หัวนมแข็งหรือขึ้นพานไวต่อการสัมผัส ขนที่หัวเหน่างอกก่อนและขนรักแร้เริ่มงอกตาม สะโพกผายออกกว้างกว่าหัวไหล่ มีกลิ่นตัว ประจำเดือนในช่วงเริ่มต้นอาจมาล่าช้าและไม่แน่นอน การตกไข่อาจเกิดหลังจากนั้นได้หนึ่งถึงสองปี ในช่วงใกล้มีประจำเดือนอาจมีอารมณ์แปรปรวน จิตใจหดหู่ ไม่สบายตัว ปากแห้ง มีกลิ่นปาก หน้าอกคัดตึง อุณหภูมิร่างกายอาจจะสูงกว่าปกติ ช่วงมีประจำเดือนอาจปวดท้องมาก
การเปลี่ยนแปลงทางสมอง คือ Corpus callosum ตั้งอยู่บริเวณเส้นใยที่เชื่อมโยงระหว่างสมองซีกซ้ายและขวา จะมีความหนามากขึ้น ส่งผลให้เกิดความสามารถในการส่งผ่านข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น Prefrontal Cortex ตั้งอยู่ระดับบนสุดของ Frontal Lobes เกี่ยวกับการใช้เหตุผล การตัดสินใจและการควบคุมตนเอง (สามารถแยกแยะผิดถูกชั่วดีและใคร่ครวญไตร่ตรอง มีวิจารณญาณ ยับยั้งชั่งใจก่อนจะกระทำการใดๆ) แม้จะเริ่มพัฒนามาแล้วในช่วงปฐมวัย ก็ยังดำเนินเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจะบรรลุวุฒิภาวะเมื่ออายุ ๑๘ ถึง ๒๕ ปี หรือล่าช้ากว่านั้นได้ Amygdala มีหน้าที่จำแนกอารมณ์ต่างๆ โกรธ เกลียด รัก ชอบ ฯลฯ จะบรรลุวุฒิภาวะก่อน Prefrontal Cortex ย่อมชี้ให้เห็นว่าเด็กในวัยนี้ยังใช้อารมณ์เป็นใหญ่และเสี่ยงต่อการมีปัญหาพฤติกรรม
สรุปด้านสมองเป็นช่วงที่ การพัฒนาการรู้จักคิด(วิเคราะห์วินิจฉัย) (Cognitive Development) เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ภายใต้การครอบงำของสมองส่วนอารมณ์(Amygdala) หากผู้ใหญ่แวดล้อมไม่กระตุ้นการพัฒนาการรู้จักคิด(วิเคราะห์วินิจฉัย) (Cognitive Development)แล้ว ย่อมทำให้เด็กตัดสินใจกระทำการหรือไม่กระทำการตามอารมณ์ โดยจะมีอารมณ์รุนแรงเป็นพิเศษ ในช่วงใกล้มีประจำเดือนเพราะมีอารมณ์แปรปรวน จิตใจหดหู่เป็นพื้นอยู่แล้ว
สรุปคือลักษณะของการพัฒนาสมองในกลุ่มวัยรุ่น ได้บ่งชี้ว่าเด็กกลุ่มนี้ยังมีความสามารถ ในกระบวนการรู้คิด(Cognitive abilities)ไม่เพียงพอ ที่จะควบคุมอารมณ์และยับยั้งพฤติกรรมของตนเอง ดังนั้นจึงเกิดความเสี่ยงที่เด็กกลุ่มนี้จะใช้ยาเสพติด การดื่มสุรา หรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร รวมทั้งเด็กวัยนี้จะมองสิ่งรอบๆตัวอย่างด้านเดียวตายตัว ทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาความสามารถรู้คิดของตน
การพัฒนาพฤตินิสัยที่สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจและการเปลี่ยนแปลงทางสมองของเด็กกลุ่มนี้ได้ดีที่สุด คือ กิจกรรมต่างๆที่จะกระตุ้นกระบวนการรู้คิด (Cognitive Development)ของเด็ก ให้มีวิจารณญาณ สามารถวินิจฉัยวิเคราะห์ถึงผลดีผลเสียต่างๆที่เกิดจากการกระทำใดๆ ช่วยให้เขาสามารถตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่สอดคล้องกับประโยชน์สูงสุดของตน ทั้งในชีวิตประจำวันและกิจกรรมพิเศษต่างๆทางสังคม สามารถพัฒนาพฤติกรรมทางเพศที่ดีให้แก่เด็ก
กลับมาพิจารณาเกี่ยวกับเด็กหญิงซึ่งฆ่าตัวตาย เด็กมีประวัติครอบครัวที่มารดาเสียชีวิตแต่เล็กๆ(อายุราว 8-9 ปี) ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงก่อนวัยรุ่นที่กำลังต้องการการชี้แนะแนวทางชีวิต ให้เด็กสามารถกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมด้านร่างกาย จิตใจ สังคมกับผู้อื่น (Guidance & Boundaries)สร้างเงื่อนไขเอื้อให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดี ต้องการกระทำดีด้วยตนเอง ผ่านการถ่ายทอดแบบอย่างในการดำเนินชีวิต (External control & Internal control, Role Model) อีกทั้งพ่อก็นำตัวเด็กมาฝากอาเลี้ยงดูแทน
เด็กจึงขาดทั้งพ่อและแม่ในการดูแลเด็กในชีวิตประจำวัน (Basic care) การสร้างหลักประกันให้เด็กปลอดภัย (Ensuring safety) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ (Emotional warmth) การกระตุ้นพัฒนาการตามวัย (Stimulation)ของเด็ก ประกอบกับการปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังไม่ได้ชักชวนกระตุ้นให้เด็กร่วมกิจวัตรประจำวันของครอบครัว เด็กจึงหมกมุ่นอยู่กับตัวเองและติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นผ่านสื่อออนไลน์เป็นหลัก จึงเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรมข้างต้น
ไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์กับครูพละหรือเด็กชายแสดงให้เห็นว่า เด็กไม่สามารถกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมด้านร่างกายจิตใจสังคมกับผู้อื่น ขาดทักษะสังคมและทักษะการจัดการปัญหาที่เป็นรากฐานในการต่อสู้ให้ผ่านพ้นวิกฤติในชีวิต ทั้งนี้การถูกล่วงเกินทางเพศหรือการถูกตัดรักจนกลายเป็นวิกฤติที่เด็กไม่อาจรับมือได้ เมื่อมีมูลเหตุจาก ภาวะซึมเศร้า (depressed)กับความรู้สึกเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตนเอง(Identity) เป็นด้านลบ ดังได้กล่าวมาแล้ว จึงก่อให้เกิดการฆ่าตัวตายตามมา หากเด็กผู้นี้ได้รับการบำบัดทางจิต (Psycho Therapy) โดยเฉพาะการบำบัดกระบวนการรู้จักคิดที่นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy) เด็กผู้นี้จะไม่เสียชีวิตอย่างแน่นอน.