หลังจากฉันเรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นพี่คนหนึ่งถามฉันว่าต้องการทำงานที่ใช้ความรู้กฎหมายในการช่วยเหลือเด็กที่ถูกทำร้ายไหม แต่มีค่าตอบแทนไม่มากนะ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานของฉัน มกราคม 2534 ฉันเริ่มทำงานในตำแหน่งนักกฎหมายที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ฉันได้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือเด็กที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ถูกทำร้ายทุบตี ถูกล่อลวงมาค้าประเวณี ในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ฉันเรียนหลายอย่างจากประสบการณ์ที่เจ็บปวดของเด็ก ๆ เรื่องที่ฉันรู้สึกเศร้าใจ คือ คนที่ทำร้ายเด็ก คือ คนในครอบครัว และที่แย่ที่สุด คือ พ่อแม่ของเขาเอง ภารกิจของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก คือ ช่วยเหลือเด็กให้ได้รับความปลอดภัย ไม่ถูกทำร้ายซ้ำ ได้รับการฟื้นฟูเยียวยา ได้รับการพัฒนา จนในที่สุดเด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติในสังคมได้ ไม่จมกับอดีตที่เจ็บปวด
ทุกวันนี้ ฉันยังได้รับโทรศัพท์จากเด็กที่ฉันเคยช่วยเหลือ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม
“ แม่วาสสบายดีไหม เดี๋ยวหนูเข้าไปกรุงเทพ จะไปเยี่ยมแม่วาสนะ”
“ พี่วาส จำหนูได้ไหม หนูเรียนจบปริญญาตรีแล้ว หนูอยากให้พี่วาสมาวันรับปริญญาด้วย มาให้ได้นะคะ “
วันหนึ่งมีผู้ชายอุ้มเด็กเล็ก ๆ เข้ามาที่มูลนิธิฯ ฉันจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อนเขา คือ เด็กชายจากโรงงานกรวยกระดาษซึ่งถูกบังคับให้ทำงาน และถูกทำร้ายจนขาลีบ ฉันถามด้วยความเป็นห่วงว่า มาหาพี่วาส มีอะไรให้พี่ช่วยหรือเปล่า
“ เปล่าครับ ผมเข้ามากรุงเทพ คิดถึงพวกพี่ที่เคยช่วยผมไว้ แวะมาเยี่ยม พี่สบายดีไหมครับ ผมนึกว่าจะไม่มีใครที่ผมรู้จักเหลืออยู่ซะแล้ว”
ฉันจะดีใจทุกครั้งที่ได้ข่าวว่าเด็ก ๆ หรือ ลูก ๆ ที่ฉันเคยช่วยเหลือมีความสุขดี ในทางกลับกันก็รู้สึกเศร้าใจเมื่อได้ยินข่าวว่าเด็กพวกเขามีปัญหา แม้ว่าตอนนี้พวกเขาโตแล้ว แต่ฉันก็ยังเป็นห่วง
ปีใหม่ที่ผ่านมา พนักงานของมูลนิธิฯ และเด็ก ๆ ทำบุญ และจัดงานปีใหม่ เด็กคนหนึ่งที่ถูกทำร้ายโดยคนในครอบครัว พูดว่า “ ขอบคุณที่พี่ ๆ ที่ช่วยเหลือและดูแลหนูเป็นอย่างดี พี่ดูแลหนูดีกว่าครอบครัวหนูเองซะอีก ขอให้พี่ ๆ มีความสุข และขอให้พี่ ๆ อยู่กับพวกหนูไปนาน ๆ “
ฉันฟังแล้วคิดว่าเด็กคงสังเกตเห็นว่า มีพี่หลายคนที่เขารักลาออกไปทำงานที่อื่นแล้ว
ในสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้การได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ลดลง รวมทั้งการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปด้วย
มาวันนี้มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กยังคงประสบปัญหา พนักงานจำนวนหนึ่งลาออกไปเพราะต้องการสร้างความมั่นคงให้ชีวิต หางานที่ได้ค่าตอบแทนสูงขึ้น แต่ยังคงมีพนักงานจำนวนหนึ่งที่ยังคงยืนหยัดที่จะทำงานที่พวกเราเลือกที่จะทำเพื่อคุ้มครองเด็กที่ถูกกระทำทารุณและถูกทอดทิ้งต่อไป เราปรับระบบการทำงาน เมื่อพนักงานลาออกไป เราไม่สามารถรับพนักงานใหม่ คนที่เหลืออยู่ต้องช่วยกันทำงาน เราทบทวนว่างานส่วนใดจำเป็นต้องดำเนินต่อไป เรายังคงลงพื้นที่ช่วยเหลือคุ้มครองเด็กที่ถูกกระทำทารุณซึ่งได้รับแจ้งเหตุทุกวัน เรายังดำเนินการสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็ก เนื่องจากสังคมไทยมีหน่วยงานที่ทำงานฟื้นฟูเยียวยาเด็กที่ถูกกระทำทารุณน้อยมาก
22 ปี แล้ว ที่ฉันอยู่ที่นี่ ด้วยความผูกพัน เพราะที่นี่เปรียบเหมือนบ้านหลังหนึ่งที่ให้โอกาสฉันได้ทำในสิ่งที่ต้องการ ฉันภูมิใจในการทำงานของมูลนิธิฯ ที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก และมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็ก ฉันเพิ่งได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ในขณะที่ องค์กรกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ฉันให้กำลังใจตัวเอง และได้กำลังใจจากเด็ก ๆ และเพื่อนร่วมงาน ว่าพวกเราจะร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรค ร่วมกันประคับประคองให้มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กสามารถทำงานที่มีคุณค่าต่อไป
ที่ผ่านมาคนส่วนมากคิดว่ามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กแล้ว แต่ฉันมีความเห็นว่าคนที่สำคัญที่สุด คือ ประชาชน ซึ่งเป็นผู้มีความรับผิดชอบโดยตรงในการเลี้ยงดูเด็กที่อยู่ในความดูแลของตนเองให้ได้รับความปลอดภัย และได้รับการส่งเสริมพัฒนา ดูแลให้เขามีความสุข นอกจากการดูแลคนในครอบครัวของตนแล้วยังสามารถให้ความรัก ความเมตตาแก่เด็กรอบข้าง เด็กในชุมชน เด็กในโรงเรียน ฉันมั่นใจว่าเมื่อคนในสังคมรับรู้และเข้าใจ พวกเขา ทั้งในฐานะตัวบุคคล กลุ่มคนหรือองค์กรต่าง ๆ จะให้โอกาสตัวเอง ในการเข้ามามีส่วนร่วมกับองค์กรที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือ เด็กที่ถูกกระทำทารุณ ถูกทอดทิ้ง เด็กเหล่านี้เป็นกลุ่มเด็กที่ควรได้รับการช่วยเหลือคุ้มครอง เพราะด้วยสภาวะที่เขาเป็นทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตามที่เขาควรจะได้รับ ฉันเชื่อมั่นว่าคนในสังคมจะลุกขึ้นมา ใช้ศักยภาพของตนเอง ทำในบางสิ่งเพื่อร่วมสร้างสังคมเอื้ออาทรสำหรับเด็ก
ศรัทธาและเชื่อมั่น
นางสาววาสนา เก้านพรัตน์
ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
9 มกราคม 2556